Translate

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การเลือกเชื้อเห็ดฟาง

          มีคนถามเข้ามาเยอะเหมือนกันนะครับ สำหรับการเลือกชื้อเชื้อเห็ดฟาง เอาง่ายๆ เนื้อๆ เลยนะครับ เชื้อเห็ดฟางที่เราใช้มีอยู่ 2 แบบครับ   คือพันธ์เบา และพันธ์หนัก     
 สายพันธุ์เบาหาง่าย ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด คือเกิดดอกเห็ดเร็ว ดอกเล็ก เปลือกบาง จำนวนดอกเห็ดมาก เก็บผลผลิตหมดเร็ว มีโอกาสกลายพันธุ์สูงมาก   แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเชื้อที่ได้มาสายพันธุ์เป็นอย่างไร ?      มีวิธีเดียวคือ เพาะทดสอบ โดยการนำเชื้อเห็ดอย่างน้อ 2 ยี่ห้อ มาเพาะเปรียบเทียบ ในโรงเรือนเพาะเดียวกัน 10 วันก็จะรู้ผล เชื้อที่นำมาเพาะเปรียบเทียบ ควรเป็นเชื้อที่มีอายุเท่ากัน คืออ่อนก็อ่อนเหมือนกัน( ไม่ใช่เอาเด็กกับคนแก่มาวิ่งแข่งกัน) พอรู้แล้วจะเลือกได้ถูกว่าควรจะใช้สายพันธุ์ไหนดี (แล้วแต่ชอบครับ) 
พันธ์หนักเป็นสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการคือ เปลือกดอกหนา ดอกใหญ่ น้ำหนักดี แต่หายากมากครับ เพราะว่าเห็ดฟางเป็นเห็ดที่ไม่ตรงตามสายพันธุ์ทุกดอก ถ้าตรงสายพันธุ์ทุกดอกเหมือนเห็ดนางรม/นางฟ้า เป็นการง่ายที่จะพัฒนาเรื่อง หัวเชื้อเห็ดฟางครับ ยิ่งพูดก็ยิ่งลึกลงไปใหญ่ ( ชักจะงง ) เอาเป็นว่า เวลาใช้เชื้อเห็ด อย่าใช้เชื้อตัวเดียว ต้องอย่างน้อย 2 ตราเสมอ เป็นการเปรียบเทียบกันไปในตัว จะได้เลือกใช้ได้ถูกต้อง บางคนไม่สนใจเลย เคยใช้อย่างไรก็อย่างนั้น (ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร) อย่างการอบไอน้ำก็เหมือนกัน (ลองถามเพื่อนซิว่าอบไปทำไม ไม่อบไม่ได้หรือ บางคนยิ่งแย่ไปใหญ่ บอกให้ก็ไม่ฟัง พูดคำเดียว ว่าเคยอบอย่างนี้เห็ดมันออกดี ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรเหมือนกัน เพราะแต่ก่อนผู้เขียนก็เคยเป็นเหมือนกัน55555555555
  


โรคเน่าในเห็ดฟาง

          ปกติโรคเน่าในเห็ด มักจะเกิดจากกองเพาะเปียกชื้น อันเนื่องมาจาก การหมักของวัสดุเพาะ ดังนั้นหากคุณควบคุมความชื้นให้พอดีมักจะไม่มี ปัญหาอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่คนทำเห็ดมักจะมองข้ามเสมอก็คือเรื่องการ ทำสะอาดโรงเรือนหลังรื้อกองเพาะทิ้ง ให้กลับไปอ่านในเรื่องการล้าง โรงเรือนให้ดี โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เทพื้นปูนภายในโรงเรือน มักจะเจอปัญหา ตามมาที่หลังหลังจากที่เพาะเห็ดไปแล้วสักพักหนึ่ง เพาะในโรงเรือนมี สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อจุลรินทรีย์เป็นอย่างมาก และถ้าเป็นพื้นดิน แล้วยิ่งทำให้เกิดการสะสมโรคมากขึ้น ปูนที่ใช้ล้างโรงเรือนควรเป็นปูนขาว ที่ใช้ในการก่อสร้าง ไม่ควรใช้ปูนมาน จะช่วยให้พื้นดินของคุณในโรงเรือน อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น และหลังจากตากโรงเรือนแห้งแล้ว ก่อนใช้งานจะต้อง ทำการล้างซ้ำอีกครั้งก่อนขนวัสดุเพาะเข้าโรงเรือน ไม่เช่นนั้นคุณจะมีปัญหา ว่าทำไมทำทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ได้ผลผลิตไม่เหมือนเดิม และอันนี้เป็น สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คนทำเห็ดต้องเลิกทำเพาะขาดทุน

อุปสรรคที่ต้องรู้ในการเพาะเห็ดฟาง


          โรคราเม็ดผักกาด มักเกิดกับกองเห็ดฟางที่ใช้ฟางเก่า เก็บค้างปี ตากแดดตากฝนมาก่อน  ลักษณะที่สังเกตเห็นคือเส้นใยของเชื้อรา มีลักษณะหนากว่าเส้นใยของเห็ดฟาง เริ่มเกิดขึ้นได้ในวันที่ 3 หรือ 4 ของการเพาะและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว




          โรคราเม็ดผักกาด ในการเพาะเห็ดฟางส่วนใหญ่สุดท้ายจะเป็นผืนเส้นใย แห้งคาไว้ดังรูป และบางครั้งก็จะจับตัวเป็นเม็ดสีขาวเล็ก ๆ คล้ายกับ เห็ดฟางเริ่มจับดอก แต่จะไม่โต สุดท้ายจะหายไปในเห็ดฟาง แต่ใยพืชอื่นจะ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ในการเพาะแบบโรงเรือนโรคนี้เกิดจากการอบไอน้ำ ได้ไม่ถึง 60 องศา ในการหมักวัสดุเพาะถ้าอุณหภูมิสูงไม่ถึง 55 องศา คืออาจ จะหยุดที่ ประมาณ 45-50 องศา แสดงว่าสูตรอาหารของคุณต้องเพิ่มอาหารเสริม ประเภท ปุ๋ย รำ มูลสัตว์ ให้มากขึ้นในการทำงานครั้งต่อไป เพื่อกระตุ้นการทำงาน ของจุลินทรีย์ให้ทำงานให้ดีขึ้น และในกรณีที่ความร้อนในกองเพาะหยุด เพิ่มขึ้น คุณก็จะต้องทำการกลับกองเพาะและก็ให้เพิ่มยูเรียเข้าไปอีก จะช่วยให้ อุณหภูมิสูงขึ้น


          ราเม็ดผักกาด จะพบเห็นในช่วงต้นของการเพาะเท่านั้น หากอบไอน้ำ ถูกต้อง ถึงแม้จะเก็บผลผลิตยาวนานอย่างพวกที่ใช้ทะลายปาล์ม ก็จะไม่เกิดราตัวนี้ขึ้นมาภายหลัง ยกเว้นแต่ตัวคุณเองเป็น พาหนะนำโรคจากที่อื่นเข้ามาในโรงเรือนครับ เวลาโรงเรือนใดมีปัญหา ต้องเช่น ราเขียว เวลาจะรื้อส่วนที่เป็นโรคทิ้ง เสร็จแล้วคุณจะต้องล้างมือ อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าทำงานใหม่ ไม่เช่นนั้นมันก็จะไปติดที่อื่น ๆ อีก
ในการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย หรือตะกร้า ไม่ว่าใช้วัสดุประเภทใดเป็นวัสดุ เพาะ ถ้าใช้วัสดุเพาะที่เก่าเก็บ และยิ่งถ้าโดนน้ำโดนฝนมา โอกาสที่จะ เกิดปัญหาราเม็ดผักกาดได้สูงครับ
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กองหมักวัสดุเพาะอุณหภูมิสูงไม่ถึง 55 องศาก็คือวัสดุเพาะเปียกไป ถ้าเป็นในกรณีนี้กองเพาะจะเหม็นเน่าโดยอุณหภูมิไม่สูง อันนี้จะทำให้กองเพาะไม่มีธาตุอาหารเห็ดเท่าที่ควร จะมีผลทำให้เห็ดเกิดเป็นดอเห็ดเล็ก ๆ อยู่ใกล้ ๆ กันเป็นหย่อม ๆ กล่าวคือมีดอกเห็ดจำนวนมากแต่ดอกเล็กและไม่มีน้ำหนัก แต่ถ้าเหม็นโดยมีอุณหภูมิสูงแสดงว่ามีธาตอาหารครับ แต่ต้องระวังในเรื่องของค่า p.h. ต้องไม่ต่ำกว่า 6 ครับถ้าต่ำกว่า 6 ความเป็นกรดนี้จะทำให้ เห็ดไม่สามารถจับตัวเป็นดอกเห็ดได้โดยสังเกตง่าย ๆ ว่าวัสดุเพาะจะมีกลิ่นฉุนมากครับ ความรู้พวกนี้เป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ ฟังดูจุกจิก แต่ถ้าคุณทำงานมีปัญหาอยู่ไอ้ความรู้จุกจิกเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาที่คุณมีอยู่โดยไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรใครทำงานมีปัญหาอย่างไรก็เล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ จะได้เป็นประโยชน์กับคนอื่น ๆ ด้วย

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตอบคุณ อ๊อฟแอฟ อ๊อฟแอฟ

วิธีการหมักวัสดุเพาะโดยใช้ขี้ฝ้ายเป็นวัสดุเพาะ ที่ใช้ในการเพาะแบบโรงเรือน
1.นำก้อนขี้ฝ้ายลงบ่อแช่ ใช้คราดหรือคราดมือเสือตะกุยออกโดยฉีดน้ำรดตลอดจนหมดก้อน โดยอย่าให้น้ำล้นออกไป ปริมาณน้ำที่ใช้เพียงแค่พอแช่ขี้ฝ้ายได้เปียกหมด เพื่อไม่ให้สูญเสียธาตุอาหารไปกับน้ำ ย่ำให้ทั่ว หรือใช้คราดตะกุยไปจนขี้ฝ้ายเปียกน้ำทั่ว หากมีเปลือกถั่วก็ให้ใส่ลงไปผสมแล้วย่ำไปด้วยกัน
2.หากคุณทำบ่อแช่ตามที่ผมเคยกล่าวไว้ การสะเด็ดน้ำก็เพียงแต่โกยขึ้นมาไว้ตรงส่วนสูงของบ่อ โดยโกยให้สูง 70 ซ.ม. หาผ้าคลุมทับด้วยของหนัก แล้วจับอุณหภูมิในกองวัสดุ (ให้จับลึกลงไป 30-40 ซ.ม. จากขอบกองหมัก) หากวัสดุเพาะมีอุณหภูมิ 50 – 55 องศา (จับอุณหภูมิว่าใช้เวลาเท่าไร จึงได้อุณหภูมิ 50 – 55 องศา) ก็แสดงว่าใช้ได้แล้ว ให้ทำการกลับกอง โดยใช้คราดมือเสือตะกุยออกจากบ่อ หากคุณไม่ทำบ่อแบบที่ผมบอกในตอนต้น คุณจะต้องใช้การโกยขึ้นจากบ่อซึ่งจะเสียเวลามาก
3.การกลับกอง ให้กองวัสดุเพาะหนาเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นหนา 15 – 20 ซ.ม โดยแต่ละชั้นให้โรยอาหารเสริมตามสูตรของคุณที่มี เช่น ยิปซั่ม รำ ปูนขาว ปุ๋ย E.M ให้พอดีหมดตามส่วน โดยให้ความสูงของกองหมัก 70 ซ.ม ยาวไปเรื่อยจนหมดวัสดุเพาะ จับอุณหภูมิวัสดุเพาะว่าใช้เวลาเท่าไร จึงจะมีอุณภูมิสูงขึ้นถึง 50-55 องศา จะต้องกลับกองหมัก เพื่อให้กองหมักได้รับออกซิเจน และให้ก๊าซแอมโมเนีย(กลิ่นเหม็น)ที่เกิดจากการหมักจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมักเพื่อย่อยสลายธาตุอาหาร
4.จำนวนครั้งของการกลับกองวัสดุ ให้สังเกตจากว่า หากอุณหภูมิของกองหมักสูงขึ้นถึง 50 – 55 องศา โดยใช้เวลามากขึ้น ก็แสดงว่าขบวนการย่อยสลายของจุลรินทรีย์ ดำเนินไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว
การใข้วัสดุเพาะอื่นที่ไม่ใช่ขี้ฝ้ายก็ใช้หลักการเดี่ยวกันครับ และเหตุผลที่ผมไม่ระบุจำนวนวันและจำนวนครั้งที่กลับกองเพราะ
           1.อุณหภูมิของอากาศ ผมเคยเพาะเห็ดในฤดูหนาว อุณหภูมิของอากาศ 20 องศา การกลับกองแต่ละครั้งใช้เวลา 2 วัน ไม่เช่นนั้นอุณหภูมิในกองเพาะจะไม่สูงพอ อันนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมเกษตรกรรุ่นเก่าจึงทำการเพาะเห็ดในฤดูหนาวไม่กำไร เหตุผลก็คือกองเพาะย่อยสลายไม่หมด เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศต่ำ ทำให้อาหารที่ย่อยสลายแล้วน้อย เห็ดก็เกิดได้น้อย กองเพาะอุณหภูมิไม่สูงพอ ก็ทำให้เห็ดเกิดน้อยครับ
          2.ชนิดของวัสดุเพาะ และส่วนผสมของวัสดุเพาะ มีผลต่อความร้อนของกองเพาะ
          3.เคยมีข้อสงสันกันระหว่างนักวิชาการกับนักปฏิบัติว่า จำนวนวันที่ใช้หมักเท่าไรจึงเหมาะ เพราะในทางปฏิบัติถ้าหมักกองเพาะไว้นาน จะทำให้เก็บเห็ดได้มากกว่ากองเพาะที่หมักไว้เพียงไม่กี่วัน ผลจากการสังเกตและศึกษาของผมสรุปได้ว่า หากหมักวัสดุเพาะมากวันเกินไป จะทำให้วัสดุเพาะขาดความร้อน ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างเส้นใยเห็ด แต่การหมักไว้นานๆ จะเกิดจุลินทรีย์ ประเภทแอนทิโนมัยซิท(Actinomycetes) ซึ่งจุลินทรีย์ตัวนี้จะมีขนาดเล็ก สามารถแทรกตัวได้ดี เมื่ออบไอน้ำฆ่าเชื้อแล้วจะทำให้เส้นใยเห็ดเดินตามจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดดอกเห็ดเป็นจำนวนมากหรือเป็นพวง ซึ่งเรียกว่าเห็ดจับหัว การเพาะเห็ดในโรงเรือนส่วนใหญ่ ถ้าหมักวัสดุเพาะน้อยวันลักษณะการเกิดดอกเห็ดจะเกิดเป็นหัว ๆ แยกห่างจากกันแต่มีขนาดดอกโตมาก เพราะฉะนั้นถ้าคุณบริหารจัดการในเรื่องการหมักวัสดุเพาะไม่ดี จะทำให้คุณได้ดอกเห็ดจำนวนน้อย แต่มีขนาดใหญ่ ถ้าหมักมากวันจะทำให้คุณเก็บเห็ดได้เป็นพวง แต่ถ้ามากวันเกินไปก็จะทำให้เห็ดเกิดน้อยเนื่องจากกองเพาะขาดความร้อน
          4.ในขบวนการหมักที่มากวัน จะทำให้วัสดุเพาะขาดความร้อน ทำให้ต้องกองวัสดุเพาะหนาขึ้น เพื่อให้อุณหภูมิในกองเพาะสูงเพียงพอที่จะสร้างเส้นใยเห็ด อันมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตาม ดังนั้นคุณจึงต้องทำการเปรียบเทียบกันว่า ถ้าคุณใช้วัสดุเพาะแบบนี้ หมักจำนวนเท่านี้วัน กองหนา เท่าไร จึงให้ผลผลิตสูงสุด บนต้นทุนต่ำสุด การทดลองในขั้นตอนนี้คุณจะต้องทำในโรงเรือนขนาดเล็กที่ผมเคยบอกในตอนต้น เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ให้ได้ก่อน ลงทุนทำจริงครับ ในข้อที่ 4 นี้สำคัญมากนะครับ เพราะถ้าคุณสามารถประหยัดต้นทุนได้ 100 บาท โดยทำให้เห็ดเกิดเพิ่มขึ้นได้ 300 บาทต่อโรงเรือน จะทำให้ต่อโรงเรือนของคุณ สร้างรายได้ 400 บาทต่อครั้ง ถ้าทำหลายโรงเรือนในปี ๆ หนึ่ง เป็นเงินมากโขเลยนะครับ

 ขอบคุณที่สนใจครับ

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เห็ดฟางสร้างรายได้จริงหรือไม่

             
น้องพอเพียง อายุ 20 วัน
            ตอนนี้กำลังยุ่งอยู่กับเจ้าตัวน้อยนี้ครับ มัวแต่ดีใจอยู่เลยไม่ค่อยมีเวลาอัพเดรตบทความตัวเท่าไร ตอนนี้พอมีเวลาบ้างก็เลยกับมาเขียนอีกสักหน่อยครับก็มีคนมาปรึกษาปัญหาบ้างจำไม่ค่อยได้นะครับก็ขอพูดรวมๆเอาก็แล้วกันครับเชิญตามมาเลยครับ5555555555555555
                        ปัญหาของเกษตรกรไทย และผู้เพาะเลี้ยงเห็ดฟางแบบโรงเรือน ที่ทำให้ไม่สามารถประสบผลสำเร็จในการทำงาน มีสาเหตุหลักมาจากการที่เกษตรกรไทยไม่ลงทุนที่จะศึกษาหาความรู้หรือแนวทางใหม่ ๆ มาใช้ในการปรับปรุงการทำงาน อันเป็นผลทำให้มีปัญหาในเรื่องของผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ ในเพาะเลี้ยงเห็ดฟางในไทยมีมากว่า 20 ปี แต่เกษตรกรของไทยเกือบทั้งหมดมีความรู้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดฟางอย่างแท้จริงน้อยมาก ๆ ส่วนใหญ่มักจะทำตาม ๆ กันและไม่รู้หรือไม่เข้าใจเหตุผลในการทำงาน ของแต่ละขั้นตอน การทำงานก็จะทำรูปแบบเดิม ๆ ทุกครั้งที่ทำงาน จึงได้ผลผลิตมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ดวงใครจะดีกว่ากัน หรือไม่ก็ไหว้พระให้เห็ดดี คนเลี้ยงเห็ดส่วนใหญ่จะยอมรับเงื่อนไขว่าถ้าทำงาน 10 ครั้ง สำเร็จ 7 ครั้งถือว่าดีแล้ว แต่ในความเป็นจริง การเพาะเลี้ยงเห็ดอย่างคนที่มีความรู้อย่างแท้จริง จะไม่พลาดเลยสักครั้ง นั้นหมายถึงต้องกำไรมากทุกครั้งที่ทำงาน และเหตุผลส่วนใหญ่ที่คนเพาะเห็ดฟางจะรับไม่ได้ก็คือ การปรับปรุงวิธีการทำงานและสูตรอาหาร ทั้ง ๆ ที่ในการทำงานในลักษณะเดิม ๆ ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น อีกทั้งส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจว่าส่วนผสมต่าง ๆ ที่ใส่เข้าไปมันไปทำงานอย่างไร จริง ๆ แล้วทั้งหมดนี้ผมได้เคยกล่าวมาแล้วในบทต้น ๆ แต่ผมจะขอทบทวนทำความเข้าใจให้ดังนี้
          สำหรับผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่ วัสดุเพาะที่นิยมใช้งานกันจะมีด้วยกัน 4 ชนิด คือ เปลือกถั่วเขียว กากมันหรือเปลือกมัน ขึ้ฝ้าย และทะลายปาล์ม จากการทดลองเพาะของผมในวัสดุเพาะแต่ละฃนิด สรุปได้ดังนี้ เปลือกถั่วเขียวเป็นวัสดุเพาะที่ให้ผลผลิตต่อตารางเมตรมากที่สุดต่อระยะเวลา กากมันและเปลือกมันสร้างปัญหาในการทำงานให้น้อยที่สุด คือให้ผลผลิตที่ค่อนข้างสม่ำเสมอเนื่องจากคุณภาพของวัตถุดิบไม่ค่อยแตกต่าง ขี้ฝ้ายเป็นวัสถุดิบที่ทำงานยากที่สุดทั้งนี้เพราะการแช่วัสดุเพาะทำได้ยาก สิ้นเปลืองแรงงานและถ้าทำงานจำนวนมาก ๆ จะต้องมีเครื่องตีขี้ฝ้ายช่วยจึงจะประหยัดค่าแรงงาน ทะลายปาล์ม เป็นวัสดุดิบที่ให้ผลผลิตได้ยาวนานที่สุด มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุด แต่วัตถุดิบที่ได้มาแต่ละครั้งจะมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งมีผลต่อความสม่ำเสมอของผลผลิต แต่อย่างไรก็ตาม การใช้วัสดุเพาะทั้ง 4 ชนิด ให้ผลตอบแทนจากเงินลงทุนต่อระยะเวลาใกล้เคียงกัน เปลือกถั่วเขียว กากมัน ขี้ฝ้ายสามารถนำวัสดุเหลือใช้ไปใช้เลี้ยงเลี้ยงปลาให้มีผลพลอยได้อื่น แต่ทะลายปาล์มจะมีปัญหาในเรื่องแหล่งน้ำทิ้ง แต่สุดท้ายการเลือกใช้อะไรเป็นวัสดุเพาะ จะต้องขึ้นอยู่กับแหล่งวัตถุดิบบวกค่าขนส่งเป็นสำคัญ บอกอย่างนี้บางท่านอ่านเข้าใจก็ดี แต่ถ้าไม่เข้าใจก็หานักบัญฃีช่วยแปลให้ก็แล้วกันครับ
          ในตอนนี้ผมจะยกตัวอย่างของทะลายปาล์ม (ผมจะพูดตามทฤษฏี) ทะลายปาล์มที่ได้มาแต่ละเที่ยวจะมีความใหม่ความเก่าไม่เท่ากัน ปริมาณที่ตกค้างของน้ำมันก็ไม่เท่ากัน ถ้าคุณใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำงานก็จะทำให้คุณได้ผลผลิตมากบ้างน้อยบ้าง ปกติทะลายปาล์มที่ได้มาจะทำการล้างน้ำทิ้ง 1 เที่ยว จากนั้นก็ใช้น้ำผสม E.M. แช่ทิ้งไว้จนฟองอากาศหมด E.M. จะช่วยให้น้ำที่แช่ไม่เน่าเสียมาก การที่ฟองอากาศหมดก็คือน้ำสามารถเข้าถึงข้างในแล้ว ปล่อยน้ำทิ้งแล้วรอให้แห้ง นำขึ้นกองสูง 60 ซ.ม. แล้วจับค่า P.H. ของกองวัสดุเพาะ แล้วราดด้วยน้ำที่ผสมปูนขาว ยิปซั่ม ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยสูตรเสมอ ในการหมักวัสดุเพาะสิ่งที่ได้จากการหมักก็คือกรด หรือค่า P.H. ในการทำงานเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง สิ่งที่เกือบทั้งหมดของผู้เพาะเลี้ยงมองข้ามก็คือค่า P.H. ทั้ง ๆ ที่ ค่า P.H. เป็นตัวบ่งชี้การทำงาน และส่วนผสมของสูตรอาหาร การหมักวัสดุเพาะยิ่งหมักนานความเป็นกรดของกองเพาะก็จะมากขึ้น ดังนั้นคำตอบที่ว่าจะใส่ปูนขาวปริมาณเท่าไรขึ้นอยู่กับค่า p.h. คุณต้องทดลองว่าทะลายปาล์มของคุณใช้น้ำเท่าไรจึงจะราดได้ทั่ว และถ้าผสมปูนขาว 1 ก.ก. จะทำให้ค่า p.h. ของคุณลดลงไปเท่าไร ยิปซั่ม ปกติทะลายปาล์ม 1 ตัน จะใช้ 1 ก.ก แต่ที่เกษตรกรรู้ก็คือหน้าหนาวต้องใช่มากอีกหน่อย จริง ๆ แล้วคุณสมบัติของยิปซัมก็คือ จะช่วยเสริมสร้างการเจริญของพืชในสภาพที่เป็นกรด ในหน้าหนาวจะต้องหมักวัสดุเพาะให้นานขึ้นทำให้ความเป็นกรดสูงขึ้น จึงต้องใส่ยิปซั่มให้มากขึ้น ตานี้คุณก็จะรู้แล้วว่าถ้ากองเพาะของคุณมีค่า P.H. ที่ต่ำคุณก็จะต้องเพิ่มยิปซั่มเข้าไปอีก 
           บอกเท่านี้ก็คงจะทราบแล้วว่าสูตรอาหารจะต้องเปลี่ยนไปตามค่า p.h. วัตถุประสงค์ของการหมักวัสดุเพาะเพื่อให้จุลินทร์ย่อยสารอาหารให้อยู่ในรูปที่เห็ดสามารถนำไปใช้ได้ การเติมปุ๋ยยูเรียเพื่อให้จุลินทรีย์นำแอมโมเนียไปสร้างเป็นโปรตีนให้กับเห็ด ทำให้เห็ดมีน้ำหนัก แต่แอมโมเนียจะสร้างความเป็นกรดให้กองเพาะ ดังนั้นถ้ากองเพาะของคุณมี P.H. สูงคุณก็ใส่ยูเรียได้มากเห็ดคุณก็จะเก็บได้มาก แต่ถ้าต่ำก็ต้องใส่น้อยหน่อย ปกติทะลายปาล์ม 1 ตันจะใช้ยูเรีย 0.5 ก.ก. และปุ๋ยสูตรเสมอส่วนใหญ่ผมจะใช้ในปริมาณที่มากกว่ายูเรีย 1 เท่าตัว หลังจากหมักวัสดุเพาะไปแล้ว 1 คืน คุณต้องจับค่า P.H. ใหม่ ถ้าต่ำกว่า 6 หรืออุณหภูมิกองเพาะสูงกว่า 55 องศา คุณจะต้องทำการกลับกองเพาะเพื่อเติมอ็อกซิเจนให้กองเพาะ โดยใช้คาดมือเสือกลับกองให้บนมาอยู่ล่าง และถ้าค่า P.H. ต่ำกว่า 6 ก็ต้องเพิ่มปูนขาวกับยิปซั่มผสมน้ำใส่เข้าไปอีกเพื่อลดอุณหภูมิและค่า P.H. ส่วนระยะเวลาในการหมักสำหรับวัสดุเพาะอื่นให้สังเกตุจากเมื่อกองเพาะมีอุณหภูมิสูงขึ้นในเวลาที่ช้าลง หรือไม่สูงขึ้นแล้ว แต่สำหรับทะลายปาล์มขึ้นอยู่กับเป้าประสงค์ในเรื่องระยะเวลาการเก็บเห็ด เนื่องจากทะลายปาล์มเป็นวัสดุเพาะที่เสื่อมสลายตัวช้ามาก สามารถให้ความร้อนในกองเพาะได้นาน ปกติจะใช้เวลาในการเก็บไม่น้อยกว่า 1 เดือน ถ้าคุณกองวัสดุเพาะสูงโดยทำอุณหภูมิในกองเพาะได้ถึง 41 องศา คุณก็สามารถเก็บเห็ดได้นานถึง 1.5 เดือน เก็บเห็ดได้เฉลี่ย 6 ก.ก. ต่อ ตารางเมตร แต่ทั้งนี้ต้องมีรายละเอียดในการทำงานอีกมาก ซึ่งจะกล่าวในภายหลัง ในการที่คุณมีความประสงค์ที่จะเก็บเห็ดในระยะยาว คุณจะต้องหมักกองเพาะเป็นเวลานาน เพื่อให้จุลินทรีย์ประเภทที่ไม่ใช้อากาศได้มีเวลาทำงานให้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้ผลผลิตของคุณสามารถเก็บได้มากในเวลาที่นานขึ้นตามระยะเวลาการหมัก โดยทั่วไปใช้เวลา 3 – 5 วัน แต่ถ้าคุณจะเก็บเห็ดแค่ 7-10 วัน หมักวันเดียวก็พอแล้ว แต่คุณจะต้องไปเพิ่มรำกับปุ๋ยยูเรียตอนเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ดในโรงเรือน แต่ในที่นี้ผมจะสมมุติเป้าไว้ว่าจะเก็บเห็ด 1 เดือน ผมจะหมักวัสดุเพาะ 3 วัน จากนั้นให้ใช้น้ำเปล่าล้างโรงเรือนอีกครั้งก่อนนำวัสดุเพาะเข้าโรงเรือน กองวัสดุเพาะให้เกยกันสูง 7-8 นิ้ว ทิ้งไว้ 1 คืน ในกรณีที่เป็นฤดูหนาวหรือเป็นที่ๆ อุณหภูมิของอากาศในตอนกลางวันกับกลางคืนแตกต่างกันมาก จะต้องจับอุณหภูมิในตอนกลางคืน เห็ดไม่สามารถเจริญได้ดีในที่ ๆ มีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมาก ๆ ดังนั้นการทำให้กองเพาะหนาจะช่วยให้อุณหภูมิในกองเพาะรักษาระดับอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้คงที่ได้ดีขึ้น ก็จะทำให้เห็ดคุณโตได้เร็วเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกองเพาะที่หนาจะมีความร้อนภายในกองเพาะสูง จะทำให้เส้นใยเห็ดเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน กองเพาะที่หนาจะเป็นแหล่งเก็บความชื้น กองเพาะที่หนาจะทำให้เห็ดเกิดกันเป็นกลุ่มก้อนติดกันเป็นพวง ลอยอยู่บนวัสดุเพาะ แต่ถ้ากองเพาะของคุณบางจะทำให้เห็ดคุณเกิดกระจัดกระจาย แต่ละหัวใหญ่แต่ได้ปริมาณน้อย กองเพาะที่บางจะทำให้อุณหภูมิในกองเพาะลดลงเร็ว ในระยะหลังของการเก็บเห็ด ดอกเห็ดจะซุกตัวอยู่ภายในวัสดุเพาะ กองเพาะที่หนาจะสามารถเก็บเห็ดใต้ชั้นวางกองเพาะได้อีกจำนวนมากในภายหลัง แต่กองเพาะที่บางจะให้ได้น้อยมาก ในการเพาะเห็ดฟางไม่ว่าคุณจะใช้วัสดุเพาะมากเท่าไร ถ้าคุณอบไอน้ำได้ถูกต้องควบคุมความชื้นและอุณหภูมิได้ดี ไม่ว่าจะคำนวณยังไงมันก็ให้ผลตอบแทนได้ดีคุ้มค่าเป็นอย่างมาก อุณหภูมิในกองเพาะควรจะได้ 41 องศา แต่ถ้าต่ำกว่า 38 คือใช้ไม่ได้ในทุกวัสดุเพาะ ต้องทำการเพิ่มวัสดุเพาะให้หนาเข้าไปอีกซึ่งจะเป็นวัสดุเพาะที่ยังไม่หมักก็ยังดีกว่าไม่เพิ่ม แต่ในบางคนก็อาศัยเพิ่มรำกับยูเรียเข้าไปจะทำให้เพิ่มอุณหภูมิได้ในระยะสั้น และบางคนก็ใช้วิธีการเพิ่มอุณหภูมิภายในโรงเรือน เพื่อให้ไปช่วยอุณหภูมิในกองเพาะ นั้นเป็นความหลากหลายในการทำงาน
          หลังจากนั้นให้คุณจับค่า P.H. มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งวัสดุเพาะที่หมักเป็นเวลานาน เมื่อนำมากองในโรงเรือน จะมีผลทำให้กองเพาะให้อุณหภูมิที่ต่ำและค่า P.H. ที่ต่ำกว่ากองเพาะที่หมักวัสดุมาน้อย ในการเพาะทุกขั้นตอน ค่า P.H. จะเป็นตัวชี้วัดการทำงาน ปกติทะลายปาล์ม 1 ตัน จะใช้ รำ 7-10 ก.ก. มูลสัตว์แห้ง 10 ก.ก. ยูเรีย 0.5 ก.ก. E.M. 2-3 ลิตร รำถ้าค่า P.H. ของคุณไม่ต่ำกว่า 6.5 คุณใส่ได้ตามสูตร แต่ถ้าต่ำกว่าก็ต้องลดลง การที่ค่า P.H. ต่ำแล้วใส่รำมาก จะทำให้กองเพาะเน่า ซึ่งจะเป็นพิษต่อดอกเห็ดในระยะเลี้ยงดอก มูลสัตว์แห้ง ถ้าคุณจะเก็บเห็ดแค่ 7 – 10 วันไม่ต้องใส่ มูลสัตว์แห้งสลายตัวช้ากว่ารำ จะทำให้เห็ดมีธาตุอาหารที่ต่อเนื่อง อย่าลืมว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ด เชื้อราตัวนี้อาศัยแอมโมเนียเป็นอาหาร การที่คุณเติมยูเรียเข้าไปจะทำให้ราเจร็ญได้เลยโดยใช้ปุ๋ยยูเรียเป็นอาหาร แต่ถ้ากองเพาะของคุณมีค่า P.H. ต่ำกว่า 6 คุณจะใส่ตัวนี้ไม่ได้ เพราะจะทำให้ค่า P.H. ต่ำลงไปอีก เห็ดจะให้น้อยถ้าค่า P.H. ต่ำ หลังจากโรยรำและมูลสัตว์ที่หน้าวัสดุเพาะแล้ว ก็ให้ราดด้วยน้ำที่ผสมยูเรียกับ E.M. ปริมาณของ E.M. ในขั้นตอนนี้ยิ่งมากยิ่งดี นั้นคือเหตุผลที่ผมบอกว่า E.M. ต้องทำการขยายเอง ส่วนวิธีการและสูตรตามอ่านย้อนหลังเอานะครับ ปริมาณน้ำที่ใช้ผสมก็คือกะให้พอดีราดให้ชุ่มแต่ไม่หยดและต้องราดให้รำและมูลสัตว์เข้าไปในวัสดุเพาะ หมักวัสดุเพาะต่ออีก 1 คืน ให้จับค่า P.H. ใหม่ ถ้ายังคงต่ำกว่า 6 คุณต้องเพิ่มน้ำผสมปูนขาวกับยิปซั่มเข้าไปอีก โดยใช้ส่วนผสมน้ำ 50 ลิตร ผสมปูนขาว 0.5 ก.ก ยิปซั่ม 0.2 ก.ก. ราดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับค่า P.H. คือจะต้องให้ P.H. ไม่ต่ำกว่า 6 หลังจากนั้นจะเลี้ยงทิ้งไว้อย่างนั้น อีก 2-3 คืนโดยปิดโรงเรือนให้มิดชิด ถ้าอุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงพอและความชื้นมากพอ จะเห็นเชื้อราขึ้นฟูเต็มวัสดุเพาะ ถ้าขึ้นฟูเต็มแล้วก็ใช้ได้ ถ้าขึ้นไม่เต็มวัดสุเพาะก็คือมีความผิดพลาดในเรื่องอุณหภูมิภายในโรงเรือนต่ำกว่า 38 องศา หรือไม่ก็ความชื้นภายในโรงเรือนต่ำกว่า 90 เมื่อเลี้ยงเชื้อราเรียบร้อยแล้วให้เปิดโรงเรือนทิ้งไว้ให้ระบายอากาศและก๊าซแอมโมเนียสัก 1 ช.ม. หรือใช้พัดลมเป่ายิ่งดี จากนั้นก็ให้ฉีดน้ำให้ชุ่มอีกครั้งแต่ไม่ให้หยดทิ้ง ทำการอบไอน้ำให้ถูกต้องตามที่เคยกล่าวไว้ แต่ในกรณีทะลายปาล์มให้อบที่อุณหภูมิ 70 องศา นานอย่างน้อย 4 ช.ม เนื่องจากเราเก็บเห็ดระยะยาว การตัดใยระหว่างตัดใยคุณจะต้องใช้พัดลมไล่อากาศอย่างต่อเนื่อง นานจนกว่าแอมโมเนียจะหมดไป โดยสังเกตุจากหลังจากหยุดให้พัดลมแล้วสักพักจะต้องหายใจได้คร่อง การตัดใยจะต้องให้น้ำเป็นละอองฝอยจริง ๆ และต้องไม่ให้มากจนเป็นละอองน้ำจับที่ใยเห็ดฟาง หลังจากนั้นก็ให้ดูแลรักษาอุณหภูมิและความชื้นตามที่เคยกล่าวถึงในแต่ละช่วงของการเลี้ยง แต่ในทะลายปาล์มมีความแตกต่างจากวัสดุเพาะอื่นตรงที่เราเก็บเห็ดเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นในขั้นตอนเลี้ยงดอกจะต้องคอยรักษาอุณหภูมิให้สูง 36-38 องศาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็ดสามารถสร้างเส้นใยได้อย่างต่อเนื่อง และการที่อุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องรักษาความชื้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นเห็ดของคุณก็จะโตนิดหน่อยแล้วบานเลยหรือเรียกว่าบานเร็ว ถ้าคุณรักษาความชื้นไม่ได้เห็ดคุณก็ไม่มีน้ำหนัก และในระยะเลี้ยงดอกคุณต้องคอยเติมอากาศให้โรงเรือนด้วย เพาะดอกเห็ดในทุกช่วงอายุต้องการอ็อกซิเจน ในกองเพาะจะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ซึ่งเกิดจากการหมักออกมาตลอดเวลา การเติมอากาศจะทำให้สูญเสียความชื้น ดังนั้นคุณจะต้องบริหารจัดการให้ดี อีกอย่างหนึ่งเนื่องจากทะลายปาล์มจะให้ผลผลิตเห็ดอย่างต่อเนื่องจะมีการสร้างเส้นใยตลอดเวลา ดังนั้นการระหว่างการเลี้ยงดอกเห็ด จะต้องให้แสงตามที่เคยกล่าวไว้ทุกวัน เพื่อให้เส้นใยเห็ดจับตัวเป็นดอกได้อย่างต่อเนื่อง
          ในกรณีที่มีวัชเห็ดขึ้นในขณะที่อุณหภูมิในกองเพาะยังคงสูงกว่า 36 องศา ก็ให้โรยรำแล้วลาดด้วยน้ำผสมยูเรียและ E.M. ผสมน้ำราดให้พอเปียกแต่ไม่ชุ่ม ปริมาณมากน้อยให้ดูจากค่า p.h. ปิดโรงเรือนเลี้ยงเชื้อราอีกทิ้งไว้ 2 คืน อบไอน้ำแล้วให้หัวเชื้อใหม่ ในปริมาณ 2 ถุงต่อ 3 ตารางเมตร ก็จะสามารถเก็บเห็ดได้อีกรอบจนกว่าอุณหภูมิภายในกองเพาะจะต่ำกว่า 35 ครับ
          จะเห็นว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การทำการเพาะเลี้ยงเห็ด เป็นงานที่ใช้เหตุผลในการทำงาน และจะต้องพิถีพิถันในการทำงานเป็นอย่างมาก จึงจะได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ มีรายได้ทุกครั้งที่ทำงาน การที่ไม่ยอมลงทุนศึกษาเพื่อหาแนวทางในการทำงานที่ถูกต้อง โดยใช้เหตุผลเพียงแค่ว่าไม่เคยทำ ไม่เห็นมีใครทำนั้น เป็นการปิดกั้นตัวเองให้ไม่พบกับความเจริญในหน้าที่การงาน การทำงานที่ยากคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เห็ดฟางไม่มีโอกาสที่จะราคาตกต่ำ เพราะด้วยการทำงานที่ยากจึงให้ผลตอบแทนที่สูง อีกอย่างหนึ่งในรายใหม่มักจะทำโรงเรือนให้ใหญ่ จริง ๆ แล้วมือใหม่ไม่ควรทำโรงเรือนใหญ่ เพราะจะทำให้ต้นทุนต่อโรงเรือนสูง อีกทั้งทำงานก็ยาก ในโรงเรือนที่มีขนาด 5X6 ขึ้นไปต้นทุนต่อหน่วยแทบจะเท่ากัน เรื่องขนาดของโรงเรือนให้กลับไปอ่านในบทความเดิมจะเข้าใจ อีกประการที่ควรคำนึงถึงคือ ขนาดของโรงเรือนที่กว้างโดยมีเนื้อที่เพาะน้อย จะทำให้รักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ยาก และขนาดโรงเรือนที่ใหญ่มากถ้าผ้าพลาสติดที่ใช้ทำผนังโรงเรือนเริ่มเสื่อมสภาพ จะทำให้อบไอน้ำได้ที่อุณหภูมิไม่ถึง ในโรงเรือนที่เพาะเห็ดไปนาน ๆ การทำความสะอาดโรงเรือนมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้คุณแพ้ไปในที่สุด
          เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คิดว่าน่าจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดแล้ว และความรู้ทั้งหมดนี้ผมได้จากการประสบปัญหาในการทำงานจริงของตัวเองจึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าจากผู้มีความรู้หลาย ๆ ท่านในห้องสมุดบ้าง งานวิจัยบ้าง  ซึ่งมีวิทยานิพนธ์เฉพาะเรื่อง และตำราอีกมากมาย ถ้าใครมีปัญหาแล้วแก้ไม่ตกผมแนะนำให้ไปค้นคว้าเอาได้ครับ ตัวผมเองเมื่อไม่มีโอกาสใช้ความรู้นี้ ก็อยากให้ความรู้นี้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรไทย หวังว่าบทความทั้งหมดคงจะพอช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้เพาะเลี้ยงที่กำลังมีปัญหาอยู่ และขอให้ทุกคนคิดและพัฒนาความรู้ของตนเองให้ได้ เพื่อประโยฃน์ของตนเองนะครับ 

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตอบคุณสุภาพ ยุทธพงศ์

          อ่านข้อเขียนของคุณภานุพงค์แล้ว ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกเยอะ ผมเพาะเห็ดฟางจากทลายปาล์มในโรงเรือน ปัญหาที่เกิดและแก้ไม่ตกคือ สถานที่เพาะเห็ดตั้งอยู่ในสวนปาล์ม ความชื้นสูง เห็ดออกเยอะแต่บานเร็ว  คงต้องหาพัดลมเป่าความชื้นออกจากโรงเรือน ขอให้คุณภานุพงค์อธิบายถึง ตำแหน่งที่ติดตั้งพัดลม ว่าควรอยู่ตำแหน่งใดบ้างของโรงเรือน ขนาดของพัดลม โรงเรือนของผมเจาะรูระบายอากาศทีหน้าจั่ว 2 ด้าน ด้านล่างไม่ได้เจาะรู หวังว่าคงได้รับความรู้เพิ่มเติมจากคุณนะครับ
เอาทีละข้อนะครับคุณสุภาพครับ
          1 เห็ดออกเยอะแต่บานเร็วผมขอเอาสาเหตุหลักนะครับ
   -ความชื้นในโรงเพาะ ,เชื้อเห็ดและอาหารเห็ดจากการหมักไม่พอ
          2.ตำแหน่งการติดตั้งพัดลม แล้วแต่ความเหมาะสมนะครับไม่ต่ำเกินไปและไม่สูงเกินไป
พัดลมหางกระรอก
การให้อากาศจะต้องให้ด้วยพัดลมหางกระรอกทุกวัน ถ้าคุณเข้า โรงเรือนแล้วรู้สึกหายใจไม่สะดวก ก็คือมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์มากไป เห็ดจะเป็นผิวคางคก ถ้ากองเพาะชื้นด้วยเห็ดจะขึ้นขนสีขาวแล็กน้อยและ จะเริ่มเน่า สังเกตได้จากดอกจะเริ่มนิ่ม นั้นคือเริ่มเน่าเพราะชื้นไปแล้ว ให้เปิดพัดลมให้อากาศสักครั้งละ 2 ช.ม. หลังจากนั้นก็ให้ดูอาการของ ดอกเห็ดที่ขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่นิ่มก็คือเริ่มใช้ได้ แต่ถ้ายังนิ่มอยู่ก็ให้เพิ่ม จำนวนครั้งต่อวันไม่ใช่เพิ่ม ช.ม. การให้อากาศ เพื่อให้กองเพาะแห้งขึ้น แต่ถ้าหายใจไม่สะดอก แล้วกองเพาะแห้งสังเกตได้จากการเอามือกดไปใน กองเพาะให้ลึกสัก 1 ซ.ม. ถ้ามือรู้สึกเปียกแห้งก็คือแห้งไปแล้ว เห็ดจะขึ้นขนฟูเต็มไปหมด ถ้าคุณกองวัสดุเพาะหรือวัสดุรองเพาะบางเกินไป ในการทำงานครั้งหน้าต้องกองให้หนาขึ้น แต่ถ้าหนาพอแล้วยังแห้ง แสดงว่าเปิดช่องลมให้อากาศมากไป หรือให้พัดลมมากไป การให้พัดลม โดยพัดลมหางกระรอกทุกครั้ง ไม่ว่ากองเพาะจะชื้นหรือแห้ง จะต้องฉีดน้ำที่ ผนังด้านในและพื้นให้ชุ้มทุกครั้ง ในกรณีที่กองเพาะแห้งเกินไป ให้ทำการเก็บเห็ดทั้งหมดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ อย่างไรก็ตามถ้าอุณหภูมิในกองเพาะน้อยกว่า 36 องศา ก็บ่วยการที่จะให้น้ำครับ รื้อทิ้งทำใหม่ได้เลย เพราะถึงเห็ดออกต่อก็ให้ได้ไม่มากแล้วเสียเวลาโรงเรือน แต่ถ้าโรงเรือนมีมากก็อีกเรื่องนะครับ เก็บต่อได้วันละ 3-400 บาทก็ดีกว่าไม่ได้
          3. รูระบายอากาศ
        ในช่วงที่ทำการเลี้ยงดอก ช่องลมด้านบนจะต้องเปิดทิ้งไว้ตลอด เวลา ยกเว้นในช่วงที่อากาศภายในโรงเรือนต่ำกว่า 30 องศา ส่วนช่องลมให้อากาศทางด้านล่าง ซึ่งเป็นช่องอากาศเข้าถ้าเปิด เป็นเวลานานจะทำให้เห็ดมีผลดังรูป การเปิดช่องอากาศทางด้านล่างส่วนใหญ่ผมจะเปิดเฉพาะเวลาที่โรงเรือนมีความร้อนสูง จะบอกว่าสูงเท่าไร ก็คือประมาณสูงกว่า 38 องศา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชื้นภายใน โรงเรือนด้วย เอาเป็นว่าถ้าร้อนแล้วยังชื้นก็ยังใช้ได้ เปิดให้หายร้อน บ้างเสร็จแล้วให้รีบปิดไว้ เพราะถ้าเปิดนานจะทำให้โรงเรือน สูญเสียความชื้น แต่ถ้าร้อนแล้วแห้งผมจะไม่เปิดช่องลม แต่จะใช้ฉีดน้ำ ตามพื้นตามผนังโรงเรือนทั้งด้านในและด้านนอก แต่ถ้าฉีดน้ำแล้ว ความร้อนยังไม่ลด ผมก็จะเปิดพัดลมหางกระรอกช่วยแต่ต้องฉีดน้ำ ตามผนังและพื้นให้มาก ๆ จะได้ไม่เสียความชื้น

หวังว่าคงเป็นประโยชน์ และบอกผลลัพธ์ที่ได้บ้างนะครับ 

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หน้าที่ขอวัสดุเพาะเห็ด(เครื่องหมัก)

เมื่อวันพฤหัสที่แล้วมีคนโทรเข้ามาถามเรื่องการเพาะเห็ดฟางจาก อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไป ผมดีใจนะครับที่บทความของผมมีคนอ่านถึงจะน้อยแต่ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในความสำเร็จของหลายๆคน ซึ่งแต่ก่อนผมก็เคยถามและเคยมีปัญหาหลายหลายอย่างกับการเพาะเห็ดก็ได้สอบถามและศึกษากับผู้มีความรู้หลายๆท่าน และหน้าที่แต่ละอย่างวัสดุเพาะเรก็จำเป็นต้องรู้ด้วยนะครับ ซึ่งจะแบ่งเป็น
1.  วัสดุหลักที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟาง มีหลายชนิด แต่ที่แนะนำให้ใช้ในการเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน มี 3 ชนิด คือ ทลายปาล์ม กากมันสำปะหลัง และขึ้ฝ้าย ส่วนวัสดุอย่างอื่นไม่แนะนำ เพราะมีธาตุอาหารน้อยกว่าทั้ง 3 ชนิด ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นวัสดุเพาะในเชิงพาณิชย์ แต่เนื่องจากแหล่งที่ผมเพาะเห็ด สามารถห กากมันสำปะหลังได้โดยประหยัดต้นทุนที่สุด ผมจึงใช้ กากมันสำปะหลังเป็นวัสดุหลัก ดังนั้นที่กล่าวต่อไปนี้ จึงเน้นในเรื่องของ กากมันสำปะหลังเป็นหลัก หากท่านใช้วัสดุเพาะอื่น ก็นำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ได้ครับ 
        ส่วนเกษตรกรท่านใดจะเลือกใช้วัสดุใด ให้คำนึงถึงต้นทุน คือค่าวัสดุบวกค่าขนส่ง และวิธีการจัดการการผลิตเป็นหลัก คือทลายปาล์ม สามารถเก็บผลผลิตได้นาน เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องแรงงาน ส่วนกากมันกับขึ้ฝ้าย นิยมเก็บเห็ดแค่รอบแรกรอบเดียว ใช้ในกรณีที่มีโรงเรือนน้อย และไม่มีปัญหาเรื่องค่าแรง คือเห็ดจะเก็บได้รอบแรกมากที่สุด เก็บรอบแรกแล้วรื้อทิ้งทำใหม่ เพราะมีกำไร (magin) สูง ไม่ให้เสียเวลาโรงเรือน แต่ถ้าโรงเรือนมีมาก ก็จะเก็บเห็ดสองรอบ เพราะในการเก็บรอบสอง เกษตรกรไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้ผลผลิต แต่จะเก็บผลผลิตได้น้อยลง คือจะเหลือประมาณ 20- 40 เปอร์เซ็น ของรอบแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของกองเพาะ ส่วนในรอบที่สาม ส่วนใหญ่ในการเพาะเห็ดโรงเรือนจะไม่ทำ เพราะผลผลิตน้อย และมีปัญหาเรื่องแมลงไรมากขึ้นตามระยะเวลาการเก็บ ซึ่งสัมพันธ์กับระยะเวลาอบไอน้ำวัสดุเพาะ 
          ในกรณีที่ไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน การเก็บเห็ดรอบแรกรอบเดียว ต้องใช้วัสดุเพาะเป็นจำนวนมาก ใช้เงินลงทุนมาก แต่ให้อัตราผลตอบแทนรายได้ต่อระยะเวลา ได้สูงสุด แต่ถ้าลงทุนสร้างโรงเรือนมาก ๆ ผลผลิตที่เก็บได้ในรอบที่สอง มีผลตอบแทนคุ้มค่าต่อเงินลงทุนสร้างโรงเรือน 
          ให้รายละเอียดแค่นี้คิดว่าท่านเกษตรกร น่าจะตัดสินใจได้แล้ว ว่าจะเลือกวัสดุใดและวิธีการใดในการเพาะเลี้ยงเห็ด 
          เหตุที่ต้องมีการหมักวัสดุเพาะ เพราะว่าธาตุอาหารในวัสดุเพาะไม่อยู่ในรูปที่เห็ดสามารถนำไปใช้ได้ จึงต้องหมักให้จุลินทรีย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ให้ทำการย่อยสลายธาตุอาหารให้เห็ดฟางนำไปใช้ได้ และในการหมักก็จะต้องมีการเติมอาหารเสริม เพื่อกระตุ้นกิจกรรมของจุลินทรีย์ และเพิ่มธาตุอาหารเสริม เพื่อให้เห็ดมีการเจริญเติบโตที่ดี 
ในการหมักวัสดุเพาะจะต้องมีการกลับกอง เพื่อเติมก๊าซออกซิเจน ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกิดปฏิกิริยา และก๊าซแอมโมเนียที่เกิดจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมักเพื่อย่อยสลายธาตุอาหาร ทำให้อุณหภูมิในปุ๋ยหมักสูงขึ้น 
2.  อาหารเสริม ได้แก่พวก ปุ๋ย ยิบซั่ม รำ E.M. มูลสัตว์ และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละที่ใช้ไม่เหมือนกันมีสูตรมากมายแตกต่างกันออกไป ดังนั้นคุณควรเข้าใจหน้าที่ของแต่ละตัว เพื่อที่จะได้นำสูตรต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกองวัสดุเพาะ เช่นอุณหภูมิ และความชื้น และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย 
          - เห็ดต้องการไนโตรเจนไปใช้ในการสังเคราะห์โปรตีน เพื่อผลิตเส้นใย และเนื้อเห็ด เห็ดจะได้โปรตีนจากจุลินทรีย์ที่เกิดในการหมักวัสดุเพาะ และการเติมปุ๋ยยูเรีย ก็เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมัก และเติมไนโตรเจนให้วัสดุเพาะ 
          - เห็ดต้องการธาตุอาหารรอง อันได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ซึ่งมีส่วนทำให้เห็ดมีการเจริญเติบโตที่ปกติ การเติมยิปซั่มคือการเติมแคลเซียม ส่วนฟอสฟอรัสกับโปตัสเซียม ผมจะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ ส่วนธาตุอาหารรองอื่นส่วนใหญ่มีเพียงพออยู่แล้ว 
          - รำ มีธาตุอาหารสูง เป็นแหล่งน้ำตาลและไนโตรเจน เมื่อย่อยสลายจะให้โปรตีนแก่เห็ด ทำให้เจริญได้ดี และเห็ดมีน้ำหนัก 
          - E.M. ที่ได้จากการหมักกากน้ำตาล และผลไม้ การหมักทำให้กากน้ำตาล มีสารน้ำตาลกลูโคสซึ่งเห็ดนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้เลย และผลไม้ที่มีรสหวานเมื่อหมักก็จะได้น้ำตาลบางส่วน พร้อมวิตามินที่อยู่ในผลไม้ ก็ช่วยให้เห็ดเจริญได้เป็นปกติ ในการหมัก E.M. ผมจะใช้ผลไม้หลาย ๆ ชนิด เพื่อให้มีธาตุอาหารรองที่หลากหลาย แต่เน้นให้มีเปลือกสับปะรดมาก ถ้าได้ผลสับปะรดได้ยิ่งดี ในสัปปะรดมีโฮโมนที่ช่วยเร่งการเกิดตา จะช่วยให้เห็ดเกิดได้ดีขึ้น ผลไม้ผมจะหาซื้อจากร้านขายผลไม้ที่เขาปลอกเปลือกทิ้ง หรือผลไม้ที่สุกงอมเกินขาย หรือเสียบางส่วน นำมาหมักกับกากน้ำตาล และเหตุผลที่นำเครื่องดื่มบำรุงกำลังมาใช้ในการเกษตร เพราะมีกลูโคสและวิตามินสูง ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าใช้ E.M. ในปริมาณที่พอดี จะให้ผลดีกว่าการใช้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ในราคาที่ถูกกว่า ที่ต้องบอกว่าในปริมาณที่พอดี เพราะว่า ใน E.M. มีธาตุอาหารที่เห็ดสามารถนำไปใช้ได้เลยอยู่สูง 
แต่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ถ้านำไปใช้หลังอบไอน้ำ การใช้มากไปจะทำให้วัสดุเพาะเกิดวัชเห็ด ถ้าใช้ในปริมาณที่พอเหมาะจะเพิ่มน้ำหนักเห็ดได้ 10-20 เปอร์เซ็น 
          -  มูลสัตว์ ได้แก่ ขี้วัว ขี้ควาย ขี้ม้า ขี้ไก่ ขี้หมู ตากแห้ง มูลสัตว์ที่ใช้ได้ดีที่สุดคือขี้หมู เนื่องจากมีธาตุอาหารที่หลากหลาย ในการเพาะเห็ดที่ต้องการเก็บผลผลิตนาน ๆ ควรใข้มูลสัตว์หมักด้วย ทั้งนี้เพราะสลายตัวอย่างช้า ๆ เพื่อให้เห็ดไปใช้ในการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งมูลสัตว์และรำ ต้องใช้ในปริมาณที่พอดี เพราะถ้าใช้น้อยไปจะไม่เห็นความแตกต่างของจำนวนผลผลิต ถ้าใช้มากไปจะเป็นพิษกับดอกเห็ดในภายหลัง 
          -  อื่น ๆ ได้แก่ อาหารหมักที่ขายเป็นถุงเพื่อหมักวัสดุเพาะ สารกระตุ้น ยาเร่งๆ โฮโมนเห็ดต่าง ๆ ผมไม่แนะนำให้ใช้ เพราะผมใช้แล้วไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการใช้กับไม่ใช้ พิสูจน์ไม่ได้ ไม่เห็นผลเป็นนัยสำคัญ หรือชัดเจน 

           ดังนั้นเกษตรแต่ละรายจะได้ส่วนผสมที่แตกต่างกันไป ตามแต่วัสดุที่ใช้ และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง อันเป็นที่มาของสูตรที่มีมากมายแตกต่างกันออกไป สูตรแต่ละสูตรใช้ต่างที่ต่างสิ่งแวดล้อมให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันครับ ดังนั้นต้องใช้สูตรใครสูตรมัน ซึ่งถ้าหากคุณจะทำอย่างจริง ๆ จัง ต้องหาสูตรของตัวเองออกมาก่อน อันนี้ถึงจะดูแล้วยุ่งยากเกินไปสำหรับเกษตรกรทั่ว ๆ ไป แต่สำคัญมากนะครับ ถ้าใครทำได้จะมีผลเรื่องต้นทุนการผลิต และ จำนวนผลผลิตที่ได้ในแต่ละครั้ง ถ้าคุณทำนาน ๆ ให้รายได้ในปี ๆ แตกต่างกันมากเลย ถ้าทำ 5 โรงเรือนรายได้ต่างกันเป็นแสนนะครับ ดังนั้นเกษตรกรที่มีสูตรที่เหมาะกับตัวเองจึงทำรายได้ได้เป็นจำนวนมาก แต่แกษตรกรบางรายไม่ได้ผล ต้องเลิกทำไป ตรงส่วนนี้ถ้าเกษตรกรรายใดไม่เข้าใจ ให้ โทรมาถามได้นะครับ เพราะว่าเข้าใจยากหน่อย การเขียนอธิบายทำได้แค่นี้ครับ บางท่านที่มีการศึกษาหน่อยจะอ่านแล้วจะเข้าใจเลย ว่าเป็นการทดลองแบบ CRD (Completely Randomized Design) โดยแบ่งการทดลองออกเป็นทรีตเมนท์ แต่บางท่านไม่รู้เรื่อง ก็ติดต่อมานะครับท่าน อยากให้ได้เงินเยอะ ๆ 
3. การหมักวัสดุเพาะ หลังจากที่มีสูตรส่วนผสมของท่านแล้วจะต้องมีการหมักวัสดุเพาะ ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องคำนึง ดังนี้ 
-ความร้อนของกองวัสดุเพาะ 
-อุณหภูมิของอากาศรอบกองเพาะ 
-ความชื้น หรือความเปียกของวัสดุเพาะ 
-กลิ่นของกองวัสดุเพาะ 
          ในการหมักวัสดุเพาะ ส่วนใหญ่จะแนะนำให้เกษตรกรว่า วันที่ 1 ให้ทำอะไร วันที่ 2 ทำอะไร วันต่อ ๆ ไป ทำอะไร จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่กล่าวถึงข้างบน เป็นสาเหตุหลักที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเกษตรกรควรทำอะไร 
อย่าท้อถอยและเห็นว่ายุ่งยากนะครับ ความยุ่งยากเหล่านี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ให้ความรู้ในการเพาะเลี้ยงมักจะไม่พูดถึง และมีส่วนเป็นอย่างมากในการทำให้ที่ผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่ ทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ การที่จะทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่น ก็ต้องมีความพยายามมากกว่าคนอื่น คุณยิ่งรู้มากเท่าไร คุณยิ่งมีความเป็นมืออาชีพมากเท่านั้น โอกาสสร้างรายได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ที่คุณมี 
ติชม หรือแนะนำเพิ่มเติมมาบ้างนะครับท่าน