Translate

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตอบคุณสุภาพ ยุทธพงศ์

          อ่านข้อเขียนของคุณภานุพงค์แล้ว ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกเยอะ ผมเพาะเห็ดฟางจากทลายปาล์มในโรงเรือน ปัญหาที่เกิดและแก้ไม่ตกคือ สถานที่เพาะเห็ดตั้งอยู่ในสวนปาล์ม ความชื้นสูง เห็ดออกเยอะแต่บานเร็ว  คงต้องหาพัดลมเป่าความชื้นออกจากโรงเรือน ขอให้คุณภานุพงค์อธิบายถึง ตำแหน่งที่ติดตั้งพัดลม ว่าควรอยู่ตำแหน่งใดบ้างของโรงเรือน ขนาดของพัดลม โรงเรือนของผมเจาะรูระบายอากาศทีหน้าจั่ว 2 ด้าน ด้านล่างไม่ได้เจาะรู หวังว่าคงได้รับความรู้เพิ่มเติมจากคุณนะครับ
เอาทีละข้อนะครับคุณสุภาพครับ
          1 เห็ดออกเยอะแต่บานเร็วผมขอเอาสาเหตุหลักนะครับ
   -ความชื้นในโรงเพาะ ,เชื้อเห็ดและอาหารเห็ดจากการหมักไม่พอ
          2.ตำแหน่งการติดตั้งพัดลม แล้วแต่ความเหมาะสมนะครับไม่ต่ำเกินไปและไม่สูงเกินไป
พัดลมหางกระรอก
การให้อากาศจะต้องให้ด้วยพัดลมหางกระรอกทุกวัน ถ้าคุณเข้า โรงเรือนแล้วรู้สึกหายใจไม่สะดวก ก็คือมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์มากไป เห็ดจะเป็นผิวคางคก ถ้ากองเพาะชื้นด้วยเห็ดจะขึ้นขนสีขาวแล็กน้อยและ จะเริ่มเน่า สังเกตได้จากดอกจะเริ่มนิ่ม นั้นคือเริ่มเน่าเพราะชื้นไปแล้ว ให้เปิดพัดลมให้อากาศสักครั้งละ 2 ช.ม. หลังจากนั้นก็ให้ดูอาการของ ดอกเห็ดที่ขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่นิ่มก็คือเริ่มใช้ได้ แต่ถ้ายังนิ่มอยู่ก็ให้เพิ่ม จำนวนครั้งต่อวันไม่ใช่เพิ่ม ช.ม. การให้อากาศ เพื่อให้กองเพาะแห้งขึ้น แต่ถ้าหายใจไม่สะดอก แล้วกองเพาะแห้งสังเกตได้จากการเอามือกดไปใน กองเพาะให้ลึกสัก 1 ซ.ม. ถ้ามือรู้สึกเปียกแห้งก็คือแห้งไปแล้ว เห็ดจะขึ้นขนฟูเต็มไปหมด ถ้าคุณกองวัสดุเพาะหรือวัสดุรองเพาะบางเกินไป ในการทำงานครั้งหน้าต้องกองให้หนาขึ้น แต่ถ้าหนาพอแล้วยังแห้ง แสดงว่าเปิดช่องลมให้อากาศมากไป หรือให้พัดลมมากไป การให้พัดลม โดยพัดลมหางกระรอกทุกครั้ง ไม่ว่ากองเพาะจะชื้นหรือแห้ง จะต้องฉีดน้ำที่ ผนังด้านในและพื้นให้ชุ้มทุกครั้ง ในกรณีที่กองเพาะแห้งเกินไป ให้ทำการเก็บเห็ดทั้งหมดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ อย่างไรก็ตามถ้าอุณหภูมิในกองเพาะน้อยกว่า 36 องศา ก็บ่วยการที่จะให้น้ำครับ รื้อทิ้งทำใหม่ได้เลย เพราะถึงเห็ดออกต่อก็ให้ได้ไม่มากแล้วเสียเวลาโรงเรือน แต่ถ้าโรงเรือนมีมากก็อีกเรื่องนะครับ เก็บต่อได้วันละ 3-400 บาทก็ดีกว่าไม่ได้
          3. รูระบายอากาศ
        ในช่วงที่ทำการเลี้ยงดอก ช่องลมด้านบนจะต้องเปิดทิ้งไว้ตลอด เวลา ยกเว้นในช่วงที่อากาศภายในโรงเรือนต่ำกว่า 30 องศา ส่วนช่องลมให้อากาศทางด้านล่าง ซึ่งเป็นช่องอากาศเข้าถ้าเปิด เป็นเวลานานจะทำให้เห็ดมีผลดังรูป การเปิดช่องอากาศทางด้านล่างส่วนใหญ่ผมจะเปิดเฉพาะเวลาที่โรงเรือนมีความร้อนสูง จะบอกว่าสูงเท่าไร ก็คือประมาณสูงกว่า 38 องศา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชื้นภายใน โรงเรือนด้วย เอาเป็นว่าถ้าร้อนแล้วยังชื้นก็ยังใช้ได้ เปิดให้หายร้อน บ้างเสร็จแล้วให้รีบปิดไว้ เพราะถ้าเปิดนานจะทำให้โรงเรือน สูญเสียความชื้น แต่ถ้าร้อนแล้วแห้งผมจะไม่เปิดช่องลม แต่จะใช้ฉีดน้ำ ตามพื้นตามผนังโรงเรือนทั้งด้านในและด้านนอก แต่ถ้าฉีดน้ำแล้ว ความร้อนยังไม่ลด ผมก็จะเปิดพัดลมหางกระรอกช่วยแต่ต้องฉีดน้ำ ตามผนังและพื้นให้มาก ๆ จะได้ไม่เสียความชื้น

หวังว่าคงเป็นประโยชน์ และบอกผลลัพธ์ที่ได้บ้างนะครับ 

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หน้าที่ขอวัสดุเพาะเห็ด(เครื่องหมัก)

เมื่อวันพฤหัสที่แล้วมีคนโทรเข้ามาถามเรื่องการเพาะเห็ดฟางจาก อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไป ผมดีใจนะครับที่บทความของผมมีคนอ่านถึงจะน้อยแต่ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในความสำเร็จของหลายๆคน ซึ่งแต่ก่อนผมก็เคยถามและเคยมีปัญหาหลายหลายอย่างกับการเพาะเห็ดก็ได้สอบถามและศึกษากับผู้มีความรู้หลายๆท่าน และหน้าที่แต่ละอย่างวัสดุเพาะเรก็จำเป็นต้องรู้ด้วยนะครับ ซึ่งจะแบ่งเป็น
1.  วัสดุหลักที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟาง มีหลายชนิด แต่ที่แนะนำให้ใช้ในการเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน มี 3 ชนิด คือ ทลายปาล์ม กากมันสำปะหลัง และขึ้ฝ้าย ส่วนวัสดุอย่างอื่นไม่แนะนำ เพราะมีธาตุอาหารน้อยกว่าทั้ง 3 ชนิด ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นวัสดุเพาะในเชิงพาณิชย์ แต่เนื่องจากแหล่งที่ผมเพาะเห็ด สามารถห กากมันสำปะหลังได้โดยประหยัดต้นทุนที่สุด ผมจึงใช้ กากมันสำปะหลังเป็นวัสดุหลัก ดังนั้นที่กล่าวต่อไปนี้ จึงเน้นในเรื่องของ กากมันสำปะหลังเป็นหลัก หากท่านใช้วัสดุเพาะอื่น ก็นำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ได้ครับ 
        ส่วนเกษตรกรท่านใดจะเลือกใช้วัสดุใด ให้คำนึงถึงต้นทุน คือค่าวัสดุบวกค่าขนส่ง และวิธีการจัดการการผลิตเป็นหลัก คือทลายปาล์ม สามารถเก็บผลผลิตได้นาน เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องแรงงาน ส่วนกากมันกับขึ้ฝ้าย นิยมเก็บเห็ดแค่รอบแรกรอบเดียว ใช้ในกรณีที่มีโรงเรือนน้อย และไม่มีปัญหาเรื่องค่าแรง คือเห็ดจะเก็บได้รอบแรกมากที่สุด เก็บรอบแรกแล้วรื้อทิ้งทำใหม่ เพราะมีกำไร (magin) สูง ไม่ให้เสียเวลาโรงเรือน แต่ถ้าโรงเรือนมีมาก ก็จะเก็บเห็ดสองรอบ เพราะในการเก็บรอบสอง เกษตรกรไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้ผลผลิต แต่จะเก็บผลผลิตได้น้อยลง คือจะเหลือประมาณ 20- 40 เปอร์เซ็น ของรอบแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของกองเพาะ ส่วนในรอบที่สาม ส่วนใหญ่ในการเพาะเห็ดโรงเรือนจะไม่ทำ เพราะผลผลิตน้อย และมีปัญหาเรื่องแมลงไรมากขึ้นตามระยะเวลาการเก็บ ซึ่งสัมพันธ์กับระยะเวลาอบไอน้ำวัสดุเพาะ 
          ในกรณีที่ไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน การเก็บเห็ดรอบแรกรอบเดียว ต้องใช้วัสดุเพาะเป็นจำนวนมาก ใช้เงินลงทุนมาก แต่ให้อัตราผลตอบแทนรายได้ต่อระยะเวลา ได้สูงสุด แต่ถ้าลงทุนสร้างโรงเรือนมาก ๆ ผลผลิตที่เก็บได้ในรอบที่สอง มีผลตอบแทนคุ้มค่าต่อเงินลงทุนสร้างโรงเรือน 
          ให้รายละเอียดแค่นี้คิดว่าท่านเกษตรกร น่าจะตัดสินใจได้แล้ว ว่าจะเลือกวัสดุใดและวิธีการใดในการเพาะเลี้ยงเห็ด 
          เหตุที่ต้องมีการหมักวัสดุเพาะ เพราะว่าธาตุอาหารในวัสดุเพาะไม่อยู่ในรูปที่เห็ดสามารถนำไปใช้ได้ จึงต้องหมักให้จุลินทรีย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ให้ทำการย่อยสลายธาตุอาหารให้เห็ดฟางนำไปใช้ได้ และในการหมักก็จะต้องมีการเติมอาหารเสริม เพื่อกระตุ้นกิจกรรมของจุลินทรีย์ และเพิ่มธาตุอาหารเสริม เพื่อให้เห็ดมีการเจริญเติบโตที่ดี 
ในการหมักวัสดุเพาะจะต้องมีการกลับกอง เพื่อเติมก๊าซออกซิเจน ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกิดปฏิกิริยา และก๊าซแอมโมเนียที่เกิดจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมักเพื่อย่อยสลายธาตุอาหาร ทำให้อุณหภูมิในปุ๋ยหมักสูงขึ้น 
2.  อาหารเสริม ได้แก่พวก ปุ๋ย ยิบซั่ม รำ E.M. มูลสัตว์ และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละที่ใช้ไม่เหมือนกันมีสูตรมากมายแตกต่างกันออกไป ดังนั้นคุณควรเข้าใจหน้าที่ของแต่ละตัว เพื่อที่จะได้นำสูตรต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกองวัสดุเพาะ เช่นอุณหภูมิ และความชื้น และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย 
          - เห็ดต้องการไนโตรเจนไปใช้ในการสังเคราะห์โปรตีน เพื่อผลิตเส้นใย และเนื้อเห็ด เห็ดจะได้โปรตีนจากจุลินทรีย์ที่เกิดในการหมักวัสดุเพาะ และการเติมปุ๋ยยูเรีย ก็เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมัก และเติมไนโตรเจนให้วัสดุเพาะ 
          - เห็ดต้องการธาตุอาหารรอง อันได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ซึ่งมีส่วนทำให้เห็ดมีการเจริญเติบโตที่ปกติ การเติมยิปซั่มคือการเติมแคลเซียม ส่วนฟอสฟอรัสกับโปตัสเซียม ผมจะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ ส่วนธาตุอาหารรองอื่นส่วนใหญ่มีเพียงพออยู่แล้ว 
          - รำ มีธาตุอาหารสูง เป็นแหล่งน้ำตาลและไนโตรเจน เมื่อย่อยสลายจะให้โปรตีนแก่เห็ด ทำให้เจริญได้ดี และเห็ดมีน้ำหนัก 
          - E.M. ที่ได้จากการหมักกากน้ำตาล และผลไม้ การหมักทำให้กากน้ำตาล มีสารน้ำตาลกลูโคสซึ่งเห็ดนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้เลย และผลไม้ที่มีรสหวานเมื่อหมักก็จะได้น้ำตาลบางส่วน พร้อมวิตามินที่อยู่ในผลไม้ ก็ช่วยให้เห็ดเจริญได้เป็นปกติ ในการหมัก E.M. ผมจะใช้ผลไม้หลาย ๆ ชนิด เพื่อให้มีธาตุอาหารรองที่หลากหลาย แต่เน้นให้มีเปลือกสับปะรดมาก ถ้าได้ผลสับปะรดได้ยิ่งดี ในสัปปะรดมีโฮโมนที่ช่วยเร่งการเกิดตา จะช่วยให้เห็ดเกิดได้ดีขึ้น ผลไม้ผมจะหาซื้อจากร้านขายผลไม้ที่เขาปลอกเปลือกทิ้ง หรือผลไม้ที่สุกงอมเกินขาย หรือเสียบางส่วน นำมาหมักกับกากน้ำตาล และเหตุผลที่นำเครื่องดื่มบำรุงกำลังมาใช้ในการเกษตร เพราะมีกลูโคสและวิตามินสูง ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าใช้ E.M. ในปริมาณที่พอดี จะให้ผลดีกว่าการใช้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ในราคาที่ถูกกว่า ที่ต้องบอกว่าในปริมาณที่พอดี เพราะว่า ใน E.M. มีธาตุอาหารที่เห็ดสามารถนำไปใช้ได้เลยอยู่สูง 
แต่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ถ้านำไปใช้หลังอบไอน้ำ การใช้มากไปจะทำให้วัสดุเพาะเกิดวัชเห็ด ถ้าใช้ในปริมาณที่พอเหมาะจะเพิ่มน้ำหนักเห็ดได้ 10-20 เปอร์เซ็น 
          -  มูลสัตว์ ได้แก่ ขี้วัว ขี้ควาย ขี้ม้า ขี้ไก่ ขี้หมู ตากแห้ง มูลสัตว์ที่ใช้ได้ดีที่สุดคือขี้หมู เนื่องจากมีธาตุอาหารที่หลากหลาย ในการเพาะเห็ดที่ต้องการเก็บผลผลิตนาน ๆ ควรใข้มูลสัตว์หมักด้วย ทั้งนี้เพราะสลายตัวอย่างช้า ๆ เพื่อให้เห็ดไปใช้ในการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งมูลสัตว์และรำ ต้องใช้ในปริมาณที่พอดี เพราะถ้าใช้น้อยไปจะไม่เห็นความแตกต่างของจำนวนผลผลิต ถ้าใช้มากไปจะเป็นพิษกับดอกเห็ดในภายหลัง 
          -  อื่น ๆ ได้แก่ อาหารหมักที่ขายเป็นถุงเพื่อหมักวัสดุเพาะ สารกระตุ้น ยาเร่งๆ โฮโมนเห็ดต่าง ๆ ผมไม่แนะนำให้ใช้ เพราะผมใช้แล้วไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการใช้กับไม่ใช้ พิสูจน์ไม่ได้ ไม่เห็นผลเป็นนัยสำคัญ หรือชัดเจน 

           ดังนั้นเกษตรแต่ละรายจะได้ส่วนผสมที่แตกต่างกันไป ตามแต่วัสดุที่ใช้ และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง อันเป็นที่มาของสูตรที่มีมากมายแตกต่างกันออกไป สูตรแต่ละสูตรใช้ต่างที่ต่างสิ่งแวดล้อมให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันครับ ดังนั้นต้องใช้สูตรใครสูตรมัน ซึ่งถ้าหากคุณจะทำอย่างจริง ๆ จัง ต้องหาสูตรของตัวเองออกมาก่อน อันนี้ถึงจะดูแล้วยุ่งยากเกินไปสำหรับเกษตรกรทั่ว ๆ ไป แต่สำคัญมากนะครับ ถ้าใครทำได้จะมีผลเรื่องต้นทุนการผลิต และ จำนวนผลผลิตที่ได้ในแต่ละครั้ง ถ้าคุณทำนาน ๆ ให้รายได้ในปี ๆ แตกต่างกันมากเลย ถ้าทำ 5 โรงเรือนรายได้ต่างกันเป็นแสนนะครับ ดังนั้นเกษตรกรที่มีสูตรที่เหมาะกับตัวเองจึงทำรายได้ได้เป็นจำนวนมาก แต่แกษตรกรบางรายไม่ได้ผล ต้องเลิกทำไป ตรงส่วนนี้ถ้าเกษตรกรรายใดไม่เข้าใจ ให้ โทรมาถามได้นะครับ เพราะว่าเข้าใจยากหน่อย การเขียนอธิบายทำได้แค่นี้ครับ บางท่านที่มีการศึกษาหน่อยจะอ่านแล้วจะเข้าใจเลย ว่าเป็นการทดลองแบบ CRD (Completely Randomized Design) โดยแบ่งการทดลองออกเป็นทรีตเมนท์ แต่บางท่านไม่รู้เรื่อง ก็ติดต่อมานะครับท่าน อยากให้ได้เงินเยอะ ๆ 
3. การหมักวัสดุเพาะ หลังจากที่มีสูตรส่วนผสมของท่านแล้วจะต้องมีการหมักวัสดุเพาะ ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องคำนึง ดังนี้ 
-ความร้อนของกองวัสดุเพาะ 
-อุณหภูมิของอากาศรอบกองเพาะ 
-ความชื้น หรือความเปียกของวัสดุเพาะ 
-กลิ่นของกองวัสดุเพาะ 
          ในการหมักวัสดุเพาะ ส่วนใหญ่จะแนะนำให้เกษตรกรว่า วันที่ 1 ให้ทำอะไร วันที่ 2 ทำอะไร วันต่อ ๆ ไป ทำอะไร จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่กล่าวถึงข้างบน เป็นสาเหตุหลักที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเกษตรกรควรทำอะไร 
อย่าท้อถอยและเห็นว่ายุ่งยากนะครับ ความยุ่งยากเหล่านี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ให้ความรู้ในการเพาะเลี้ยงมักจะไม่พูดถึง และมีส่วนเป็นอย่างมากในการทำให้ที่ผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่ ทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ การที่จะทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่น ก็ต้องมีความพยายามมากกว่าคนอื่น คุณยิ่งรู้มากเท่าไร คุณยิ่งมีความเป็นมืออาชีพมากเท่านั้น โอกาสสร้างรายได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ที่คุณมี 
ติชม หรือแนะนำเพิ่มเติมมาบ้างนะครับท่าน

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พูดคุยกับเห็ดฟาง

               ในการเพาะเห็ดฟาง จะเห็นว่าบางครั้งทำงานเหมือนเดิมหมด แต่ได้ผลผลิตไม่เหมือนเดิมทุกครั้ง หรือบางครั้งเราเห็นคนเขาทำงาน แบบนี้แล้วได้ผล แต่พอเราทำตามกลับไม่ได้ผล หรือบางครั้งทำงาน ไปได้ผลดี พอมาวันหนึ่งกลับทำไม่ได้อีก ปัญหาเหล่านี้มีอยู่เหตุผล เดียวคือเรารักษาสภาพแวดล้อมในโรงเรือนไว้ไม่ได้ หรือได้ไม่เหมือน ต้นแบบที่เราเรียนมา ขนาดของผมโรงเรือนด้านหนึ่งโดนแดด อีกด้านไม่โดนแดด ในโรงเดียวกันผมยังทำงานไม่เหมือนกัน ความร้อนในโรงเรือนทำให้ความชื้นในกองเพาะเสียไป ดังนั้นใน โรงเรือนที่ร้อนกว่าจะต้องมีการกองวัสดุเพาะไว้เก็บความชื้นให้มากกว่า เหล่านี้เป็นรายละเอียดในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้คุณจะต้อง เข้าใจเหตุผลในการทำงาน และหลักการทำงานต่าง ๆ ได้ และต้องหมั่นสังเกตว่าการทำงานแบบนี้ ให้ผลอย่างไร แล้วใช้ประสบการณ์ที่ได้ไปใช้พัฒนาตัวเองในครั้งต่อไป 

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คำถามที่พบบ่อยในการเพาะเห็ด

คำถามที่ได้รับมากก็คือทำไมเห็ดไม่ออกดอกหรือไม่ก็ ทำไมเห็ดออกดอกน้อยเป็นคำถามสั้น ๆ แต่ทำให้ผมคิดอยู่นานมาก ๆ ว่าจะตอบอย่างไรดีเพื่อให้ผู้อ่านชัดเจน ก่อนอื่นท่านที่ยังไม่เคยอ่านบทความของผมมาก่อน แนะนำให้ไปอ่านมาก่อนจะได้เข้าใจในเรื่องวิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของการทำเห็ดฟางแบบโรงเรือน เข้าเรื่องนะครับ ปกติวิธีการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนที่ทำงานนับตั้งแต่ส่วนผสม การหมักวัสดุเพาะ การกองวัสดุเพาะ การอบไอน้ำ การเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ด การให้เชื้อ การตัดดอก การดูแลรักษา ทุกขั้นตอนไม่ว่าตอนหนึ่งตอนใดถ้าผิดพลาด ก็มีผลต่อผลผลิตทั้งสิ้น ปัญหาคือจะรู้ได้อย่างไรเมื่อทำงานผิด ก่อนอื่นผมต้องขอย้ำก่อนว่าถ้าคุณเป็นมือใหม่ คุณจะต้องมีเครื่องมือที่จำเป็นมาก 2 ตัวคือ เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น และเครื่องมือวัดความเป็นกรดด่าง เริ่มเลยนะครับ
1.ส่วนผสมวัสดุเพาะ ตัวอื่น ๆ จะใส่มากหรือน้อยไม่เป็นไร ไม่ได้มีผลทำให้เห็ดไม่ติด จะมีผลแค่ทำให้เห็ดออกมากหรือน้อย แต่ถ้าผสมรำมากเกินไป จะทำให้ย่อยสลายไม่หมดจะทำให้วัสดุเพาะเป็นกรด ซึ่งความเป็นกรดนี้จะเป็นพิษต่อเห็ดในระยะจับดอก
2.ถ้าคุณหมักวัสดุเพาะไม่นานพอ จะทำให้อาหารเห็ดน้อย คุณจะได้เห็ดน้อยแต่ถ้าคุณหมักนานเกินไปจะทำให้วัสดุเพาะเป็นกรด ถ้าวัสดุเพาะของคุณเป็นกรดมากจะทำให้เห็ดไม่จับดอกเลย ค่า ph. ที่ความจะได้คือ 6.5-7 ครับ
3.การกองวัสดุรองเพาะ ถ้าไม่หนาพอจะทำให้กองวัสดุเพาะแห้งไป จะมีผลทำให้เห็ดเกิดน้อย
4.การกองวัสดุเพาะ ถ้ากองน้อย จะทำให้อุณหภูมิภายในกองเพาะต่ำเกินไป จะมีผลทำให้เชื้อเห็ดไม่สามารถสร้างเส้นใยเห็ดได้ ผลทำให้เห็ดไม่เกิดหรือเกิดน้อย
5.การกองวัสดุเพาะและวัสดุรองเพาะมากเกินไป ไม่มีผลเสียแต่อย่างใด มีแต่เปลืองของ สำหรับมือใหม่แนะนำว่าไม่ต้องประหยัดครับ ทำให้เกิดให้ได้ก่อนแล้วค่อยปรับปรุงต้นทุนเอาครับ อีกอย่างราคารับซื้อเห็ดฟางปัจจุบันขั้นต่ำตลอดทั้งปีอยู่ที่ 60 บาท ซึ่งปกติจะได้ 70-90 บาท ในราคาขนาดนี้ทำให้เปลืองอย่างไรก็ยังกำไรมากอยู่ดีครับ
6.การเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ด จะต้องให้กองเพาะและโรงเรือน มีความชื้นมาก ๆ ไม่ใช่แฉะนะครับ เพื่อให้ราเจริญเติบโตได้ดี ถ้าความชื้นไม่พอ จะทำให้เห็ดเกิดน้อย และเมื่อเลี้ยงดอกเห็ดจะมีปัญหากองวัสดุเพาะแห้งเกินไป
7.การอบไอน้ำ ต้องให้น้ำให้ชุ่มแต่ไม่ให้หยดทิ้ง อบให้อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของการหมักกองวัสดุเพาะ 10 องศา นานอย่างน้อย 3 ช.ม. นับตั้งแต่อุณหภูมิถึงที่กำหนดคือมากกว่า 10 องศา ถ้าคุณอบไอน้ำได้อุณหภูมิไม่ถึงหรือระยะเวลาไม่นานพอ จะมีผลทำให้เชื้อราอื่นซึ่งมีความแข็งแรงกว่าเชื้อเห็ดกินเชื้อเห็ดฟางเป็นอาหาร ทำให้เห็ดไม่เกิดหรือเกิดแต่น้อยมาก
8.การให้เชื้อ ต้องให้แน่ใจว่าเชื้อเจริญได้พอดีใช้ ไม่แก่ไปหรืออ่อนไป และต้องไม่มีราดำ หรือราเขียว และการให้หัวเชื้อต้องให้ในขณะที่อุณหภูมิภายในโรงเรือนอยู่ที่ 38 องศา ถ้าคุณให้หัวเชื้อที่อุณหภูมิต่ำ 36 องศาจะทำให้เห็ดเกิดน้อย ถ้าสูงกว่า 40 องศาจะทำให้หัวเชื้อบางส่วนตาย
9.หลังให้หัวเชื้อต้องให้น้ำเพื่อให้หัวเชื้อแนบติดกับวัสดุเพาะ ถ้าไม่ให้น้ำจะทำให้หัวเชื้อแห้งไปเห็ดก็เกิดน้อย แต่ถ้าให้มากจนเกินไปคือแฉะจะทำให้เชื้อไม่สามารถแทรกตัวลงในวัสดุเพาะไม่ได้ดี เห็ดก็เกิดน้อยเช่นกัน
10.หลังเห็ดจับตัวเป็นดอกแล้ว ก็รักษาอุณหภูมิกับความชื้นให้ได้ ก็เป็นอันสำเร็จแล้วครับ



จะเห็นว่าการเลี้ยงเห็ดฟางจริง ๆ แล้วต้องใช้ความรู้และประสบการณ์มาก แต่ให้คิดเสมอว่าการทำงานที่ต้องอาศัยความรู้จะให้ผลตอบแทนมากว่าการทำงานโดยใช้แรงงาน ถ้าคุณปลูกข้าวโพดราคาที่ได้คือตันละ ถ้าคุณเพาะเห็ดตัวอื่นคุณก็จะได้ไม่มาก บางช่วงอาจจะขาดทุน แต่ถ้าเพาะเห็ดฟางถ้าทำได้มีแต่กำไรมากตลอดทั้งปีครับ ก็หวังว่าที่กล่าวมาทั้งหมดคงพอช่วยแก้ปัญหาและเป็นแนวทางความรู้ให้บางท่านได้นะครับ ถ้ามีปัญหาอื่นก็ถามมาได้นะครับ