Translate

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตอบคุณ อ๊อฟแอฟ อ๊อฟแอฟ

วิธีการหมักวัสดุเพาะโดยใช้ขี้ฝ้ายเป็นวัสดุเพาะ ที่ใช้ในการเพาะแบบโรงเรือน
1.นำก้อนขี้ฝ้ายลงบ่อแช่ ใช้คราดหรือคราดมือเสือตะกุยออกโดยฉีดน้ำรดตลอดจนหมดก้อน โดยอย่าให้น้ำล้นออกไป ปริมาณน้ำที่ใช้เพียงแค่พอแช่ขี้ฝ้ายได้เปียกหมด เพื่อไม่ให้สูญเสียธาตุอาหารไปกับน้ำ ย่ำให้ทั่ว หรือใช้คราดตะกุยไปจนขี้ฝ้ายเปียกน้ำทั่ว หากมีเปลือกถั่วก็ให้ใส่ลงไปผสมแล้วย่ำไปด้วยกัน
2.หากคุณทำบ่อแช่ตามที่ผมเคยกล่าวไว้ การสะเด็ดน้ำก็เพียงแต่โกยขึ้นมาไว้ตรงส่วนสูงของบ่อ โดยโกยให้สูง 70 ซ.ม. หาผ้าคลุมทับด้วยของหนัก แล้วจับอุณหภูมิในกองวัสดุ (ให้จับลึกลงไป 30-40 ซ.ม. จากขอบกองหมัก) หากวัสดุเพาะมีอุณหภูมิ 50 – 55 องศา (จับอุณหภูมิว่าใช้เวลาเท่าไร จึงได้อุณหภูมิ 50 – 55 องศา) ก็แสดงว่าใช้ได้แล้ว ให้ทำการกลับกอง โดยใช้คราดมือเสือตะกุยออกจากบ่อ หากคุณไม่ทำบ่อแบบที่ผมบอกในตอนต้น คุณจะต้องใช้การโกยขึ้นจากบ่อซึ่งจะเสียเวลามาก
3.การกลับกอง ให้กองวัสดุเพาะหนาเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นหนา 15 – 20 ซ.ม โดยแต่ละชั้นให้โรยอาหารเสริมตามสูตรของคุณที่มี เช่น ยิปซั่ม รำ ปูนขาว ปุ๋ย E.M ให้พอดีหมดตามส่วน โดยให้ความสูงของกองหมัก 70 ซ.ม ยาวไปเรื่อยจนหมดวัสดุเพาะ จับอุณหภูมิวัสดุเพาะว่าใช้เวลาเท่าไร จึงจะมีอุณภูมิสูงขึ้นถึง 50-55 องศา จะต้องกลับกองหมัก เพื่อให้กองหมักได้รับออกซิเจน และให้ก๊าซแอมโมเนีย(กลิ่นเหม็น)ที่เกิดจากการหมักจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมักเพื่อย่อยสลายธาตุอาหาร
4.จำนวนครั้งของการกลับกองวัสดุ ให้สังเกตจากว่า หากอุณหภูมิของกองหมักสูงขึ้นถึง 50 – 55 องศา โดยใช้เวลามากขึ้น ก็แสดงว่าขบวนการย่อยสลายของจุลรินทรีย์ ดำเนินไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว
การใข้วัสดุเพาะอื่นที่ไม่ใช่ขี้ฝ้ายก็ใช้หลักการเดี่ยวกันครับ และเหตุผลที่ผมไม่ระบุจำนวนวันและจำนวนครั้งที่กลับกองเพราะ
           1.อุณหภูมิของอากาศ ผมเคยเพาะเห็ดในฤดูหนาว อุณหภูมิของอากาศ 20 องศา การกลับกองแต่ละครั้งใช้เวลา 2 วัน ไม่เช่นนั้นอุณหภูมิในกองเพาะจะไม่สูงพอ อันนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมเกษตรกรรุ่นเก่าจึงทำการเพาะเห็ดในฤดูหนาวไม่กำไร เหตุผลก็คือกองเพาะย่อยสลายไม่หมด เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศต่ำ ทำให้อาหารที่ย่อยสลายแล้วน้อย เห็ดก็เกิดได้น้อย กองเพาะอุณหภูมิไม่สูงพอ ก็ทำให้เห็ดเกิดน้อยครับ
          2.ชนิดของวัสดุเพาะ และส่วนผสมของวัสดุเพาะ มีผลต่อความร้อนของกองเพาะ
          3.เคยมีข้อสงสันกันระหว่างนักวิชาการกับนักปฏิบัติว่า จำนวนวันที่ใช้หมักเท่าไรจึงเหมาะ เพราะในทางปฏิบัติถ้าหมักกองเพาะไว้นาน จะทำให้เก็บเห็ดได้มากกว่ากองเพาะที่หมักไว้เพียงไม่กี่วัน ผลจากการสังเกตและศึกษาของผมสรุปได้ว่า หากหมักวัสดุเพาะมากวันเกินไป จะทำให้วัสดุเพาะขาดความร้อน ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างเส้นใยเห็ด แต่การหมักไว้นานๆ จะเกิดจุลินทรีย์ ประเภทแอนทิโนมัยซิท(Actinomycetes) ซึ่งจุลินทรีย์ตัวนี้จะมีขนาดเล็ก สามารถแทรกตัวได้ดี เมื่ออบไอน้ำฆ่าเชื้อแล้วจะทำให้เส้นใยเห็ดเดินตามจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดดอกเห็ดเป็นจำนวนมากหรือเป็นพวง ซึ่งเรียกว่าเห็ดจับหัว การเพาะเห็ดในโรงเรือนส่วนใหญ่ ถ้าหมักวัสดุเพาะน้อยวันลักษณะการเกิดดอกเห็ดจะเกิดเป็นหัว ๆ แยกห่างจากกันแต่มีขนาดดอกโตมาก เพราะฉะนั้นถ้าคุณบริหารจัดการในเรื่องการหมักวัสดุเพาะไม่ดี จะทำให้คุณได้ดอกเห็ดจำนวนน้อย แต่มีขนาดใหญ่ ถ้าหมักมากวันจะทำให้คุณเก็บเห็ดได้เป็นพวง แต่ถ้ามากวันเกินไปก็จะทำให้เห็ดเกิดน้อยเนื่องจากกองเพาะขาดความร้อน
          4.ในขบวนการหมักที่มากวัน จะทำให้วัสดุเพาะขาดความร้อน ทำให้ต้องกองวัสดุเพาะหนาขึ้น เพื่อให้อุณหภูมิในกองเพาะสูงเพียงพอที่จะสร้างเส้นใยเห็ด อันมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตาม ดังนั้นคุณจึงต้องทำการเปรียบเทียบกันว่า ถ้าคุณใช้วัสดุเพาะแบบนี้ หมักจำนวนเท่านี้วัน กองหนา เท่าไร จึงให้ผลผลิตสูงสุด บนต้นทุนต่ำสุด การทดลองในขั้นตอนนี้คุณจะต้องทำในโรงเรือนขนาดเล็กที่ผมเคยบอกในตอนต้น เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ให้ได้ก่อน ลงทุนทำจริงครับ ในข้อที่ 4 นี้สำคัญมากนะครับ เพราะถ้าคุณสามารถประหยัดต้นทุนได้ 100 บาท โดยทำให้เห็ดเกิดเพิ่มขึ้นได้ 300 บาทต่อโรงเรือน จะทำให้ต่อโรงเรือนของคุณ สร้างรายได้ 400 บาทต่อครั้ง ถ้าทำหลายโรงเรือนในปี ๆ หนึ่ง เป็นเงินมากโขเลยนะครับ

 ขอบคุณที่สนใจครับ

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เห็ดฟางสร้างรายได้จริงหรือไม่

             
น้องพอเพียง อายุ 20 วัน
            ตอนนี้กำลังยุ่งอยู่กับเจ้าตัวน้อยนี้ครับ มัวแต่ดีใจอยู่เลยไม่ค่อยมีเวลาอัพเดรตบทความตัวเท่าไร ตอนนี้พอมีเวลาบ้างก็เลยกับมาเขียนอีกสักหน่อยครับก็มีคนมาปรึกษาปัญหาบ้างจำไม่ค่อยได้นะครับก็ขอพูดรวมๆเอาก็แล้วกันครับเชิญตามมาเลยครับ5555555555555555
                        ปัญหาของเกษตรกรไทย และผู้เพาะเลี้ยงเห็ดฟางแบบโรงเรือน ที่ทำให้ไม่สามารถประสบผลสำเร็จในการทำงาน มีสาเหตุหลักมาจากการที่เกษตรกรไทยไม่ลงทุนที่จะศึกษาหาความรู้หรือแนวทางใหม่ ๆ มาใช้ในการปรับปรุงการทำงาน อันเป็นผลทำให้มีปัญหาในเรื่องของผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ ในเพาะเลี้ยงเห็ดฟางในไทยมีมากว่า 20 ปี แต่เกษตรกรของไทยเกือบทั้งหมดมีความรู้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดฟางอย่างแท้จริงน้อยมาก ๆ ส่วนใหญ่มักจะทำตาม ๆ กันและไม่รู้หรือไม่เข้าใจเหตุผลในการทำงาน ของแต่ละขั้นตอน การทำงานก็จะทำรูปแบบเดิม ๆ ทุกครั้งที่ทำงาน จึงได้ผลผลิตมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ดวงใครจะดีกว่ากัน หรือไม่ก็ไหว้พระให้เห็ดดี คนเลี้ยงเห็ดส่วนใหญ่จะยอมรับเงื่อนไขว่าถ้าทำงาน 10 ครั้ง สำเร็จ 7 ครั้งถือว่าดีแล้ว แต่ในความเป็นจริง การเพาะเลี้ยงเห็ดอย่างคนที่มีความรู้อย่างแท้จริง จะไม่พลาดเลยสักครั้ง นั้นหมายถึงต้องกำไรมากทุกครั้งที่ทำงาน และเหตุผลส่วนใหญ่ที่คนเพาะเห็ดฟางจะรับไม่ได้ก็คือ การปรับปรุงวิธีการทำงานและสูตรอาหาร ทั้ง ๆ ที่ในการทำงานในลักษณะเดิม ๆ ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น อีกทั้งส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจว่าส่วนผสมต่าง ๆ ที่ใส่เข้าไปมันไปทำงานอย่างไร จริง ๆ แล้วทั้งหมดนี้ผมได้เคยกล่าวมาแล้วในบทต้น ๆ แต่ผมจะขอทบทวนทำความเข้าใจให้ดังนี้
          สำหรับผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่ วัสดุเพาะที่นิยมใช้งานกันจะมีด้วยกัน 4 ชนิด คือ เปลือกถั่วเขียว กากมันหรือเปลือกมัน ขึ้ฝ้าย และทะลายปาล์ม จากการทดลองเพาะของผมในวัสดุเพาะแต่ละฃนิด สรุปได้ดังนี้ เปลือกถั่วเขียวเป็นวัสดุเพาะที่ให้ผลผลิตต่อตารางเมตรมากที่สุดต่อระยะเวลา กากมันและเปลือกมันสร้างปัญหาในการทำงานให้น้อยที่สุด คือให้ผลผลิตที่ค่อนข้างสม่ำเสมอเนื่องจากคุณภาพของวัตถุดิบไม่ค่อยแตกต่าง ขี้ฝ้ายเป็นวัสถุดิบที่ทำงานยากที่สุดทั้งนี้เพราะการแช่วัสดุเพาะทำได้ยาก สิ้นเปลืองแรงงานและถ้าทำงานจำนวนมาก ๆ จะต้องมีเครื่องตีขี้ฝ้ายช่วยจึงจะประหยัดค่าแรงงาน ทะลายปาล์ม เป็นวัสดุดิบที่ให้ผลผลิตได้ยาวนานที่สุด มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุด แต่วัตถุดิบที่ได้มาแต่ละครั้งจะมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งมีผลต่อความสม่ำเสมอของผลผลิต แต่อย่างไรก็ตาม การใช้วัสดุเพาะทั้ง 4 ชนิด ให้ผลตอบแทนจากเงินลงทุนต่อระยะเวลาใกล้เคียงกัน เปลือกถั่วเขียว กากมัน ขี้ฝ้ายสามารถนำวัสดุเหลือใช้ไปใช้เลี้ยงเลี้ยงปลาให้มีผลพลอยได้อื่น แต่ทะลายปาล์มจะมีปัญหาในเรื่องแหล่งน้ำทิ้ง แต่สุดท้ายการเลือกใช้อะไรเป็นวัสดุเพาะ จะต้องขึ้นอยู่กับแหล่งวัตถุดิบบวกค่าขนส่งเป็นสำคัญ บอกอย่างนี้บางท่านอ่านเข้าใจก็ดี แต่ถ้าไม่เข้าใจก็หานักบัญฃีช่วยแปลให้ก็แล้วกันครับ
          ในตอนนี้ผมจะยกตัวอย่างของทะลายปาล์ม (ผมจะพูดตามทฤษฏี) ทะลายปาล์มที่ได้มาแต่ละเที่ยวจะมีความใหม่ความเก่าไม่เท่ากัน ปริมาณที่ตกค้างของน้ำมันก็ไม่เท่ากัน ถ้าคุณใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำงานก็จะทำให้คุณได้ผลผลิตมากบ้างน้อยบ้าง ปกติทะลายปาล์มที่ได้มาจะทำการล้างน้ำทิ้ง 1 เที่ยว จากนั้นก็ใช้น้ำผสม E.M. แช่ทิ้งไว้จนฟองอากาศหมด E.M. จะช่วยให้น้ำที่แช่ไม่เน่าเสียมาก การที่ฟองอากาศหมดก็คือน้ำสามารถเข้าถึงข้างในแล้ว ปล่อยน้ำทิ้งแล้วรอให้แห้ง นำขึ้นกองสูง 60 ซ.ม. แล้วจับค่า P.H. ของกองวัสดุเพาะ แล้วราดด้วยน้ำที่ผสมปูนขาว ยิปซั่ม ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยสูตรเสมอ ในการหมักวัสดุเพาะสิ่งที่ได้จากการหมักก็คือกรด หรือค่า P.H. ในการทำงานเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง สิ่งที่เกือบทั้งหมดของผู้เพาะเลี้ยงมองข้ามก็คือค่า P.H. ทั้ง ๆ ที่ ค่า P.H. เป็นตัวบ่งชี้การทำงาน และส่วนผสมของสูตรอาหาร การหมักวัสดุเพาะยิ่งหมักนานความเป็นกรดของกองเพาะก็จะมากขึ้น ดังนั้นคำตอบที่ว่าจะใส่ปูนขาวปริมาณเท่าไรขึ้นอยู่กับค่า p.h. คุณต้องทดลองว่าทะลายปาล์มของคุณใช้น้ำเท่าไรจึงจะราดได้ทั่ว และถ้าผสมปูนขาว 1 ก.ก. จะทำให้ค่า p.h. ของคุณลดลงไปเท่าไร ยิปซั่ม ปกติทะลายปาล์ม 1 ตัน จะใช้ 1 ก.ก แต่ที่เกษตรกรรู้ก็คือหน้าหนาวต้องใช่มากอีกหน่อย จริง ๆ แล้วคุณสมบัติของยิปซัมก็คือ จะช่วยเสริมสร้างการเจริญของพืชในสภาพที่เป็นกรด ในหน้าหนาวจะต้องหมักวัสดุเพาะให้นานขึ้นทำให้ความเป็นกรดสูงขึ้น จึงต้องใส่ยิปซั่มให้มากขึ้น ตานี้คุณก็จะรู้แล้วว่าถ้ากองเพาะของคุณมีค่า P.H. ที่ต่ำคุณก็จะต้องเพิ่มยิปซั่มเข้าไปอีก 
           บอกเท่านี้ก็คงจะทราบแล้วว่าสูตรอาหารจะต้องเปลี่ยนไปตามค่า p.h. วัตถุประสงค์ของการหมักวัสดุเพาะเพื่อให้จุลินทร์ย่อยสารอาหารให้อยู่ในรูปที่เห็ดสามารถนำไปใช้ได้ การเติมปุ๋ยยูเรียเพื่อให้จุลินทรีย์นำแอมโมเนียไปสร้างเป็นโปรตีนให้กับเห็ด ทำให้เห็ดมีน้ำหนัก แต่แอมโมเนียจะสร้างความเป็นกรดให้กองเพาะ ดังนั้นถ้ากองเพาะของคุณมี P.H. สูงคุณก็ใส่ยูเรียได้มากเห็ดคุณก็จะเก็บได้มาก แต่ถ้าต่ำก็ต้องใส่น้อยหน่อย ปกติทะลายปาล์ม 1 ตันจะใช้ยูเรีย 0.5 ก.ก. และปุ๋ยสูตรเสมอส่วนใหญ่ผมจะใช้ในปริมาณที่มากกว่ายูเรีย 1 เท่าตัว หลังจากหมักวัสดุเพาะไปแล้ว 1 คืน คุณต้องจับค่า P.H. ใหม่ ถ้าต่ำกว่า 6 หรืออุณหภูมิกองเพาะสูงกว่า 55 องศา คุณจะต้องทำการกลับกองเพาะเพื่อเติมอ็อกซิเจนให้กองเพาะ โดยใช้คาดมือเสือกลับกองให้บนมาอยู่ล่าง และถ้าค่า P.H. ต่ำกว่า 6 ก็ต้องเพิ่มปูนขาวกับยิปซั่มผสมน้ำใส่เข้าไปอีกเพื่อลดอุณหภูมิและค่า P.H. ส่วนระยะเวลาในการหมักสำหรับวัสดุเพาะอื่นให้สังเกตุจากเมื่อกองเพาะมีอุณหภูมิสูงขึ้นในเวลาที่ช้าลง หรือไม่สูงขึ้นแล้ว แต่สำหรับทะลายปาล์มขึ้นอยู่กับเป้าประสงค์ในเรื่องระยะเวลาการเก็บเห็ด เนื่องจากทะลายปาล์มเป็นวัสดุเพาะที่เสื่อมสลายตัวช้ามาก สามารถให้ความร้อนในกองเพาะได้นาน ปกติจะใช้เวลาในการเก็บไม่น้อยกว่า 1 เดือน ถ้าคุณกองวัสดุเพาะสูงโดยทำอุณหภูมิในกองเพาะได้ถึง 41 องศา คุณก็สามารถเก็บเห็ดได้นานถึง 1.5 เดือน เก็บเห็ดได้เฉลี่ย 6 ก.ก. ต่อ ตารางเมตร แต่ทั้งนี้ต้องมีรายละเอียดในการทำงานอีกมาก ซึ่งจะกล่าวในภายหลัง ในการที่คุณมีความประสงค์ที่จะเก็บเห็ดในระยะยาว คุณจะต้องหมักกองเพาะเป็นเวลานาน เพื่อให้จุลินทรีย์ประเภทที่ไม่ใช้อากาศได้มีเวลาทำงานให้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้ผลผลิตของคุณสามารถเก็บได้มากในเวลาที่นานขึ้นตามระยะเวลาการหมัก โดยทั่วไปใช้เวลา 3 – 5 วัน แต่ถ้าคุณจะเก็บเห็ดแค่ 7-10 วัน หมักวันเดียวก็พอแล้ว แต่คุณจะต้องไปเพิ่มรำกับปุ๋ยยูเรียตอนเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ดในโรงเรือน แต่ในที่นี้ผมจะสมมุติเป้าไว้ว่าจะเก็บเห็ด 1 เดือน ผมจะหมักวัสดุเพาะ 3 วัน จากนั้นให้ใช้น้ำเปล่าล้างโรงเรือนอีกครั้งก่อนนำวัสดุเพาะเข้าโรงเรือน กองวัสดุเพาะให้เกยกันสูง 7-8 นิ้ว ทิ้งไว้ 1 คืน ในกรณีที่เป็นฤดูหนาวหรือเป็นที่ๆ อุณหภูมิของอากาศในตอนกลางวันกับกลางคืนแตกต่างกันมาก จะต้องจับอุณหภูมิในตอนกลางคืน เห็ดไม่สามารถเจริญได้ดีในที่ ๆ มีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมาก ๆ ดังนั้นการทำให้กองเพาะหนาจะช่วยให้อุณหภูมิในกองเพาะรักษาระดับอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้คงที่ได้ดีขึ้น ก็จะทำให้เห็ดคุณโตได้เร็วเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกองเพาะที่หนาจะมีความร้อนภายในกองเพาะสูง จะทำให้เส้นใยเห็ดเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน กองเพาะที่หนาจะเป็นแหล่งเก็บความชื้น กองเพาะที่หนาจะทำให้เห็ดเกิดกันเป็นกลุ่มก้อนติดกันเป็นพวง ลอยอยู่บนวัสดุเพาะ แต่ถ้ากองเพาะของคุณบางจะทำให้เห็ดคุณเกิดกระจัดกระจาย แต่ละหัวใหญ่แต่ได้ปริมาณน้อย กองเพาะที่บางจะทำให้อุณหภูมิในกองเพาะลดลงเร็ว ในระยะหลังของการเก็บเห็ด ดอกเห็ดจะซุกตัวอยู่ภายในวัสดุเพาะ กองเพาะที่หนาจะสามารถเก็บเห็ดใต้ชั้นวางกองเพาะได้อีกจำนวนมากในภายหลัง แต่กองเพาะที่บางจะให้ได้น้อยมาก ในการเพาะเห็ดฟางไม่ว่าคุณจะใช้วัสดุเพาะมากเท่าไร ถ้าคุณอบไอน้ำได้ถูกต้องควบคุมความชื้นและอุณหภูมิได้ดี ไม่ว่าจะคำนวณยังไงมันก็ให้ผลตอบแทนได้ดีคุ้มค่าเป็นอย่างมาก อุณหภูมิในกองเพาะควรจะได้ 41 องศา แต่ถ้าต่ำกว่า 38 คือใช้ไม่ได้ในทุกวัสดุเพาะ ต้องทำการเพิ่มวัสดุเพาะให้หนาเข้าไปอีกซึ่งจะเป็นวัสดุเพาะที่ยังไม่หมักก็ยังดีกว่าไม่เพิ่ม แต่ในบางคนก็อาศัยเพิ่มรำกับยูเรียเข้าไปจะทำให้เพิ่มอุณหภูมิได้ในระยะสั้น และบางคนก็ใช้วิธีการเพิ่มอุณหภูมิภายในโรงเรือน เพื่อให้ไปช่วยอุณหภูมิในกองเพาะ นั้นเป็นความหลากหลายในการทำงาน
          หลังจากนั้นให้คุณจับค่า P.H. มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งวัสดุเพาะที่หมักเป็นเวลานาน เมื่อนำมากองในโรงเรือน จะมีผลทำให้กองเพาะให้อุณหภูมิที่ต่ำและค่า P.H. ที่ต่ำกว่ากองเพาะที่หมักวัสดุมาน้อย ในการเพาะทุกขั้นตอน ค่า P.H. จะเป็นตัวชี้วัดการทำงาน ปกติทะลายปาล์ม 1 ตัน จะใช้ รำ 7-10 ก.ก. มูลสัตว์แห้ง 10 ก.ก. ยูเรีย 0.5 ก.ก. E.M. 2-3 ลิตร รำถ้าค่า P.H. ของคุณไม่ต่ำกว่า 6.5 คุณใส่ได้ตามสูตร แต่ถ้าต่ำกว่าก็ต้องลดลง การที่ค่า P.H. ต่ำแล้วใส่รำมาก จะทำให้กองเพาะเน่า ซึ่งจะเป็นพิษต่อดอกเห็ดในระยะเลี้ยงดอก มูลสัตว์แห้ง ถ้าคุณจะเก็บเห็ดแค่ 7 – 10 วันไม่ต้องใส่ มูลสัตว์แห้งสลายตัวช้ากว่ารำ จะทำให้เห็ดมีธาตุอาหารที่ต่อเนื่อง อย่าลืมว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ด เชื้อราตัวนี้อาศัยแอมโมเนียเป็นอาหาร การที่คุณเติมยูเรียเข้าไปจะทำให้ราเจร็ญได้เลยโดยใช้ปุ๋ยยูเรียเป็นอาหาร แต่ถ้ากองเพาะของคุณมีค่า P.H. ต่ำกว่า 6 คุณจะใส่ตัวนี้ไม่ได้ เพราะจะทำให้ค่า P.H. ต่ำลงไปอีก เห็ดจะให้น้อยถ้าค่า P.H. ต่ำ หลังจากโรยรำและมูลสัตว์ที่หน้าวัสดุเพาะแล้ว ก็ให้ราดด้วยน้ำที่ผสมยูเรียกับ E.M. ปริมาณของ E.M. ในขั้นตอนนี้ยิ่งมากยิ่งดี นั้นคือเหตุผลที่ผมบอกว่า E.M. ต้องทำการขยายเอง ส่วนวิธีการและสูตรตามอ่านย้อนหลังเอานะครับ ปริมาณน้ำที่ใช้ผสมก็คือกะให้พอดีราดให้ชุ่มแต่ไม่หยดและต้องราดให้รำและมูลสัตว์เข้าไปในวัสดุเพาะ หมักวัสดุเพาะต่ออีก 1 คืน ให้จับค่า P.H. ใหม่ ถ้ายังคงต่ำกว่า 6 คุณต้องเพิ่มน้ำผสมปูนขาวกับยิปซั่มเข้าไปอีก โดยใช้ส่วนผสมน้ำ 50 ลิตร ผสมปูนขาว 0.5 ก.ก ยิปซั่ม 0.2 ก.ก. ราดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับค่า P.H. คือจะต้องให้ P.H. ไม่ต่ำกว่า 6 หลังจากนั้นจะเลี้ยงทิ้งไว้อย่างนั้น อีก 2-3 คืนโดยปิดโรงเรือนให้มิดชิด ถ้าอุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงพอและความชื้นมากพอ จะเห็นเชื้อราขึ้นฟูเต็มวัสดุเพาะ ถ้าขึ้นฟูเต็มแล้วก็ใช้ได้ ถ้าขึ้นไม่เต็มวัดสุเพาะก็คือมีความผิดพลาดในเรื่องอุณหภูมิภายในโรงเรือนต่ำกว่า 38 องศา หรือไม่ก็ความชื้นภายในโรงเรือนต่ำกว่า 90 เมื่อเลี้ยงเชื้อราเรียบร้อยแล้วให้เปิดโรงเรือนทิ้งไว้ให้ระบายอากาศและก๊าซแอมโมเนียสัก 1 ช.ม. หรือใช้พัดลมเป่ายิ่งดี จากนั้นก็ให้ฉีดน้ำให้ชุ่มอีกครั้งแต่ไม่ให้หยดทิ้ง ทำการอบไอน้ำให้ถูกต้องตามที่เคยกล่าวไว้ แต่ในกรณีทะลายปาล์มให้อบที่อุณหภูมิ 70 องศา นานอย่างน้อย 4 ช.ม เนื่องจากเราเก็บเห็ดระยะยาว การตัดใยระหว่างตัดใยคุณจะต้องใช้พัดลมไล่อากาศอย่างต่อเนื่อง นานจนกว่าแอมโมเนียจะหมดไป โดยสังเกตุจากหลังจากหยุดให้พัดลมแล้วสักพักจะต้องหายใจได้คร่อง การตัดใยจะต้องให้น้ำเป็นละอองฝอยจริง ๆ และต้องไม่ให้มากจนเป็นละอองน้ำจับที่ใยเห็ดฟาง หลังจากนั้นก็ให้ดูแลรักษาอุณหภูมิและความชื้นตามที่เคยกล่าวถึงในแต่ละช่วงของการเลี้ยง แต่ในทะลายปาล์มมีความแตกต่างจากวัสดุเพาะอื่นตรงที่เราเก็บเห็ดเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นในขั้นตอนเลี้ยงดอกจะต้องคอยรักษาอุณหภูมิให้สูง 36-38 องศาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็ดสามารถสร้างเส้นใยได้อย่างต่อเนื่อง และการที่อุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องรักษาความชื้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นเห็ดของคุณก็จะโตนิดหน่อยแล้วบานเลยหรือเรียกว่าบานเร็ว ถ้าคุณรักษาความชื้นไม่ได้เห็ดคุณก็ไม่มีน้ำหนัก และในระยะเลี้ยงดอกคุณต้องคอยเติมอากาศให้โรงเรือนด้วย เพาะดอกเห็ดในทุกช่วงอายุต้องการอ็อกซิเจน ในกองเพาะจะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ซึ่งเกิดจากการหมักออกมาตลอดเวลา การเติมอากาศจะทำให้สูญเสียความชื้น ดังนั้นคุณจะต้องบริหารจัดการให้ดี อีกอย่างหนึ่งเนื่องจากทะลายปาล์มจะให้ผลผลิตเห็ดอย่างต่อเนื่องจะมีการสร้างเส้นใยตลอดเวลา ดังนั้นการระหว่างการเลี้ยงดอกเห็ด จะต้องให้แสงตามที่เคยกล่าวไว้ทุกวัน เพื่อให้เส้นใยเห็ดจับตัวเป็นดอกได้อย่างต่อเนื่อง
          ในกรณีที่มีวัชเห็ดขึ้นในขณะที่อุณหภูมิในกองเพาะยังคงสูงกว่า 36 องศา ก็ให้โรยรำแล้วลาดด้วยน้ำผสมยูเรียและ E.M. ผสมน้ำราดให้พอเปียกแต่ไม่ชุ่ม ปริมาณมากน้อยให้ดูจากค่า p.h. ปิดโรงเรือนเลี้ยงเชื้อราอีกทิ้งไว้ 2 คืน อบไอน้ำแล้วให้หัวเชื้อใหม่ ในปริมาณ 2 ถุงต่อ 3 ตารางเมตร ก็จะสามารถเก็บเห็ดได้อีกรอบจนกว่าอุณหภูมิภายในกองเพาะจะต่ำกว่า 35 ครับ
          จะเห็นว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การทำการเพาะเลี้ยงเห็ด เป็นงานที่ใช้เหตุผลในการทำงาน และจะต้องพิถีพิถันในการทำงานเป็นอย่างมาก จึงจะได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ มีรายได้ทุกครั้งที่ทำงาน การที่ไม่ยอมลงทุนศึกษาเพื่อหาแนวทางในการทำงานที่ถูกต้อง โดยใช้เหตุผลเพียงแค่ว่าไม่เคยทำ ไม่เห็นมีใครทำนั้น เป็นการปิดกั้นตัวเองให้ไม่พบกับความเจริญในหน้าที่การงาน การทำงานที่ยากคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เห็ดฟางไม่มีโอกาสที่จะราคาตกต่ำ เพราะด้วยการทำงานที่ยากจึงให้ผลตอบแทนที่สูง อีกอย่างหนึ่งในรายใหม่มักจะทำโรงเรือนให้ใหญ่ จริง ๆ แล้วมือใหม่ไม่ควรทำโรงเรือนใหญ่ เพราะจะทำให้ต้นทุนต่อโรงเรือนสูง อีกทั้งทำงานก็ยาก ในโรงเรือนที่มีขนาด 5X6 ขึ้นไปต้นทุนต่อหน่วยแทบจะเท่ากัน เรื่องขนาดของโรงเรือนให้กลับไปอ่านในบทความเดิมจะเข้าใจ อีกประการที่ควรคำนึงถึงคือ ขนาดของโรงเรือนที่กว้างโดยมีเนื้อที่เพาะน้อย จะทำให้รักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ยาก และขนาดโรงเรือนที่ใหญ่มากถ้าผ้าพลาสติดที่ใช้ทำผนังโรงเรือนเริ่มเสื่อมสภาพ จะทำให้อบไอน้ำได้ที่อุณหภูมิไม่ถึง ในโรงเรือนที่เพาะเห็ดไปนาน ๆ การทำความสะอาดโรงเรือนมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้คุณแพ้ไปในที่สุด
          เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คิดว่าน่าจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดแล้ว และความรู้ทั้งหมดนี้ผมได้จากการประสบปัญหาในการทำงานจริงของตัวเองจึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าจากผู้มีความรู้หลาย ๆ ท่านในห้องสมุดบ้าง งานวิจัยบ้าง  ซึ่งมีวิทยานิพนธ์เฉพาะเรื่อง และตำราอีกมากมาย ถ้าใครมีปัญหาแล้วแก้ไม่ตกผมแนะนำให้ไปค้นคว้าเอาได้ครับ ตัวผมเองเมื่อไม่มีโอกาสใช้ความรู้นี้ ก็อยากให้ความรู้นี้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรไทย หวังว่าบทความทั้งหมดคงจะพอช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้เพาะเลี้ยงที่กำลังมีปัญหาอยู่ และขอให้ทุกคนคิดและพัฒนาความรู้ของตนเองให้ได้ เพื่อประโยฃน์ของตนเองนะครับ