Translate

วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2568

การเพาะเห็ดฟางสร้างรายได้จริงหรือไม่ ตอนที่ 1

เห็ดฟาง เป็นพืชเกษตรชนิดหนึ่ง ที่ให้ผลตอบแทน (Magin) สูง ไม่มีปัญหาเรื่องผลผลิตราคาตกต่ำ หรือขาดทุนจากการเพาะเลี้ยง แต่ทั้งนี้จะต้องมีความรู้ในเชิงทฤษฏี และประสบการณ์การการเพาะเลี้ยง จึงจะประสพผลสำเร็จ และ จะให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่ามาก ขนาดสามารถสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ ให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี
ทำความรู้จักกับเห็ดฟางเบี้องต้น
เห็ดฟาง เป็นพืชที่เพาะเลี้ยงและสามารถให้เก็บผลผลิตได้โดยใช้ระยะเวลาสั้น คือใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงในโรงเรือนประมาณ 15-20 วัน ก็สามารถเก็บดอกเห็ดไปจำหน่ายได้ ดอกเห็ดฟางจำหน่ายได้ราคาดี ตลาดมีความต้องการมาก อาชีพการเพาะเห็ดฟางจึงเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรมากอย่างหนึ่ง สิ่งสำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้เพาะเห็ดฟางคือ อัตราเติบโตของปริมาณผลการผลิตเห็ดฟาง มีอัตราต่ำกว่าการเติบโตของการบริโภค และยังมีตลาดรองรับที่แน่นอน ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ
การเพาะเลี้ยงเห็ดฟางมีหลายแบบ แต่หากคิดที่จะผลิตเห็ดเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ จะต้องใช้วิธีการการเพาะเลี้ยงแบบโรงเรือน ทั้งนี้เพาะในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว สามารถผลิตเห็ดได้ดีกว่าการเพาะเลี้ยงในรูปแบบอื่น ๆ ทำให้มีรายได้สม่ำเสนอทั้งปี ยิ่งในช่วงที่ฝนตก หรือมีอากาศหนาว ราคาเห็ดฟางจะมีราคาสูงขึ้นกว่าช่วงอื่น ๆ อีกทั้งการเพาะเลี้ยงในโรงเรือน สามารถการดำเนินงานได้สะดวก รวดเร็ว ใช้พื้นที่น้อยกว่าการเพาะเห็ดฟางแบบอื่นๆ การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนนี้ก็ยังมีข้อเสียคือ มีการลงทุนในขั้นแรกที่ค่อนข้างจะสูง มีหลักวิธีการปฏิบัติและขั้นตอนการเพาะมากพอสมควร ดังนั้นผู้ที่จะทำการเพาะเห็ดฟางในเรือนจำเป็นต้องศึกษาให้ทราบ และเข้าใจเป็นอย่างดีเสียก่อน เพราะหากกระทำไม่ถูกวิธีแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้
เหตุใดเห็ดฟางจึงเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง
การเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง ครั้งหนึ่ง ๆ จะให้ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าแรงงาน ค่าวัสดุเพาะ ค่าหัวเชื้อ ค่าเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้ว จะมีกำไรอยู่ประมาณ 50-65 เปอร์เซ็นต์ โดยคิดราคาถั่วเฉลี่ยที่ขายได้อยู่ประมาณ 65 บาท ต่อกิโลกรัม แต่เหตุใด หรือทำไม จึงมีผู้ประสพผลสำเร็จ ได้น้อย อันเป็นเหตุให้ราคาเห็ดฟางคงที่อยู่ตลอดทั้งปี และในบางช่วงราคาอาจสูงถึง ก.ก. ละ 70 – 90 บาท ซึ่งมีเหตุผลดังต่อไปนี้
1.เห็ดฟาง เป็นพืชที่อ่อนไหวต่อการดูแลรักษาการผลิตมาก มีขั้นตอนการทำงานมาก ซึ่งถ้าหากมีการทำงานผิดพลาดในขั้นตอนต่าง ๆ เพียงขั้นตอนเดียว ก็จะมีผลต่อปริมาณของผลผลิตแล้ว
2.ผู้เพาะเลี้ยง ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเชิงทฤษฏี รู้แต่วิธีและขั้นตอนการเพาะเลี้ยงที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว ซึ่งเห็ดฟางเป็นพืชที่อ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง อากาศ หากสภาพแวดล้อมเปลี่ยน ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงจะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย มิเช่นนั้นจะ ทำให้มีผลผลิตที่ต่ำลง
3.ในการเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง จะมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น (ก๊าซแอมโมเนีย) และมีปํญหาเรื่องแมลงไร ทำให้หาแรงงานได้ยาก แต่ถ้าหากขั้นตอนการทำงานถูกต้อง ปัญหานี้จะน้อยลงไปมาก
ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประการข้างต้น จึงทำให้ผู้เพาะเลี้ยงรายเดิมเลิกเพาะเลี้ยง หรือหยุดเพาะเลี้ยงในบางช่วงที่อากาศหนาว
ในขณะที่ผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่ ก็ไม่มีประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยง ทำให้ประสพปัญหาขาดทุน และเลิกเลี้ยงไปในที่สุด ซึ่งส่งผลให้อัตราการผลิตน้อยลงไปทุกที ในขณะที่การบริโภคไม่ลดลง ซึ่งทำให้ราคาผลผลิตสูงอยู่ตลอด และบางช่วงราคาสูงมาก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกร ยังคงต้องเพาะเลี้ยงต่อ
อย่างไรก็ดี หากเกษตรกรรายใด มีคุณสมบัติครบ คือ
1.มีความรู้ในเชิงทฤษดี ซึ่งสามารถหาอ่านได้ทั่วไป
2.มีเงินทุน เริ่มต้น 300,000 บาท พอใช้สำหรับ 5 โรงเรือน ในเวลา 4 - 5 เดือน
3.มีพื้นที่ทำงาน 1 – 2 ไร่
4.มีความอดทน และเข้าใจว่าในระหว่างหาประสบการณ์ ประมาณ 10 – 20 ครั้ง การผลิต หรือ ประมาณ 3 – 6 เดือน จะต้องขาดทุนค่าแรงงาน
5.มีแหล่งหาความรู้ในการทำงานเพาะเลี้ยง หรือสอบถามปัญหา
6.ไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน
7.เป็นคนมีวินัยในการทำงาน และเป็นคนทำงานจริงจัง
คุณก็สามารถจะสร้างรายได้ ขั้นต่ำเดือนละ 2-30,000 บาท ได้อย่างสบาย ๆ ไม่ยาก และถ้าสามารถขยายงานออกไปได้ สามารถทำการตลาดเองได้ คุณก็สามารถที่จะเป็นผู้ที่ไม่มีความเดือดร้อน ในเรื่องการเงิน
ปัญหาและอุปสรรคในการเพาะเลี้ยง
จากที่กล่าวมาข้างต้น เกษตรที่คิดจะเป็นผู้เพาะเลี้ยงเห็ดฟางรายใหม่ อาจจะพอเห็นปัญหาและอุปสรรคในการเพาะเลี้ยงบางแล้ว แต่อะไรก็ตามที่ปัญหามาก ผลตอบแทนก็สูงตามปัญหาและอุปสรรค ซึ่งต้องยอมรับว่าผลตอบแทนที่สูง เป็นแรงจูงใจที่ดี อีกอย่างหนึ่ง ถ้าคุณมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะสร้างอนาคต ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดที่แก้ไขไม่ได้ ดังนั้นถ้าคุณผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ คุณก็จะเป็นผู้ประสพผลสำเร็จได้ในอนาคต
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผม และคิดว่าผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่จะต้องเจอมีดังนี้
1.วิธีการเพาะเลี้ยงและขั้นตอนการเพาะเลี้ยง ส่วนใหญ่จะได้รับการอบรมเป็นขั้นตอนที่ตายตัว แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ทำให้มีปัญหาตามมาหลากหลาย และถ้าไม่มีความรู้ในเชิงทฤษฏี ก็จะไม่เข้าใจเหตุผล ทำให้ปัญหาเดิม ๆ เกิดขึ้นโดยไม่ได้แก้ไข
2.ในภาคทฤษฏี มีการทดลองในเชิงภาคปฏิบัติมามากแล้ว ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องทำการทดลองลองถูกลองผิดอีก เพราะจะทำให้เกิดผลเสียหายเพิ่มขึ้น
3.ในการเริ่มต้นหาประสพการณ์ทำงานจริง จะเกิดปัญหาขึ้นมาก และเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง อันเนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือคิดไปเองว่าเป็นเช่นนั้น แต่พอทำงานจริง จึงเห็นปัญหาแล้วจึงเข้าใจว่าไม่ใช่ เช่น ตอนผมไปดูการเพาะเลี้ยงตามที่ต่าง ๆ จะไม่มีผู้อบรมรายใด ให้ความสำคัญในเรื่องเตาที่ใช้ในการอบไอน้ำ ทั้งนี้เพราะมันไม่ใช่ขั้นตอนการเพาะเลี้ยง แต่การสร้างเตา ถ้าผิดไปจะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงสูงมาก หรือไม่ถ้าไม่สามารถทำความร้อนได้พอ ก็จะทำให้ผลผลิตเสียหาย ผมไปมอง ๆ ดูว่าเตาเขาทำอย่างไร คิดว่าง่ายและไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้วเตาเป็นหัวใจของการเพาะเลี้ยงเห็ดอย่างหนึ่งเลย ถ้าไม่ถูกต้องก็ไม่มีโอกาสสำเร็จ
4.ในระหว่างหาประสบการณ์ ผลผลิตที่ได้จะน้อย ทำให้หาแหล่งขายได้ยาก แต่ถ้าคุณทำงานเข้าที่แล้ว มีผลผลิตที่มากพอ แน่นอนและสม่ำเสมอ คุณก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการขายผลผลิต ตรงกันข้ามจะมีผู้คำประกันราคารับซื้อให้คุณเลยละ และยังมารับซื้อถึงที่อีกด้วย
ข้อดีของการเพาะเลี้ยง
อ่าน ๆ ผ่านมา หลายคนคงไม่คิดที่จะทำการเพาะเลี้ยงแล้ว มีแต่ปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่น่าจะดี แต่จริงแล้ว การเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง เป็นพืชตัวหนึ่งในไม่กี่ชนิด ที่มีแรงจูงใจที่ดีคือ
1.ไม่มีปัญหาในเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำอย่างไร เห็ดของคุณก็ยังคงขายดี เห็ดฟางราคาสูงเท่าไร ก็ยังคงมีผู้จำเป็นต้องใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหาร ไม่ต้องกลัวขายผลผลิตไม่ได้
2.ถ้าคุณมีผลผลิตสม่ำเสมอ คุณจะได้ราคาขายที่ตายตัว ผู้ซื้อบางรายรับประกันราคาขั้นต่ำให้คุณทั้งปีได้เลย ซึ่งถ้าคุณผ่านปัญหาไปได้ คุณจะมีรายได้เป็นที่แน่นอน สม่ำเสมอตามผลผลิตของคุณ และในช่วงที่เห็ดราคาสูง (บางครั้ง ก.ก 90-100 บาท จากปกติ 55-60 บาท) ถ้าคุณมีความรู้ในการเพาะเลี้ยงเพียงพอ คุณจะยิ่งมีรายได้สูงขึ้นไปอีก
3.หากคุณมีอาชีพเป็นช่างทำผม สมมุติคุณมีรายได้เดือนละ 10,000 บาท หากคุณต้องการเพิ่มรายได้เป็น 20,000 บาท บนอาชีพเดิมทำไม่ได้ แต่เห็ดฟาง ถ้าคุณทำเพิ่มได้เท่าไร ขยายกำลังการผลิตได้เท่าไร มีคนรับซื้อครับ รับไม่จำกัดจำนวนด้วย เพียงมีเงื่อนไขเดียวให้คุณ คือคุณต้องทำให้ได้ปริมาณสม่ำเสมอ
4.หากคุณมีความรู้และประสบการณ์เพียงพอ อาชีพเพาะเห็ดฟาง จะเป็นอาชีพหนึ่ง ที่คุณไม่มีโอกาสขาดทุน ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
หากคุณคิดว่าข้อดีในการเพาะเลี้ยงเห็ดฟางทั้งหลายนี้ เป็นแรงจูงใจที่ดีที่จะทำให้คุณฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้ มันก็จะมีผลทำให้คุณมีฐานะที่มั่นคงในอนาคตได้ และผมก็ยังขอยืนยันคำเดิม ให้คุณมั่นใจได้เลยว่าคุณจะเป็นผู้ที่ไม่มีความเดือดร้อน ในเรื่องการเงิน

ความรู้ทางทฤษฏี
โดยความเข้าใจของคนทั่วไป มักจะเข้าใจวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง เป็นความรู้ทางทฤษฏี จริง ๆ แล้วเป็นเพียงขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการเพาะเลี้ยงเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ในการอบไอน้ำวัสดุเพาะเห็ด บางตำราให้อบไอน้ำที่อุณหภูมิ 60 องศา เป็นเวลา 4-6 ช.ม บางทีให้อบที่อุณหภูมิ 65 องศา เป็นเวลา 4-5 ช.ม บางทีให้อบที่อุณหภูมิ 70 องศา เป็นเวลา 2-4 ช.ม ถามว่าแล้วอันไหนถูก อันไหนผิด ตอบว่าถูกทั้งหมดครับ
ในการเพาะเลี้ยงเห็ดจะต้องมีการหมักวัสดุเพาะ อุณหภูมิของอากาศ ความชื้นของกองวัสดุเพาะ ความสูงของการกองวัสดุเพาะ ความหนาของการกองวัสดุเพาะ ประเภทของวัสดุที่ใช้เป็นวัสดุเพาะ มีผลต่ออุณหภูมิของกองวัสดุเพาะ หากคุณกองวัสดุเพาะและวัดอุณหภูมิได้เท่าใด คุณต้องอบไอน้ำให้ได้เท่านั้น บวกกับ 10 องศา เพื่อให้ราที่เกิดในวัสดุเพาะอ่อนแอลงเป็นอาหารให้กับเห็ดฟาง หากคุณอบไอน้ำน้อยกว่า 10 องศามาก ๆ จะทำให้ราเหล่านี้ยังแข็งแรงและจะกินเชื้อเห็ดฟางเป็นอาหาร หากคุณอบไอน้ำมากกว่า 10 องศามาก ๆ จะทำให้ราอาหารเห็ดอ่อนแอจนเกินไป ไม่สามารถจะแพร่ขยายต่อไปจะทำให้เห็ดฟางที่จะเก็บในรอบที่ 2 หรือ รอบที่ 3 มีขนาดดอกเล็กและน้อยลง เพราะขาดอาหาร
ส่วนระยะเวลาในการอบไอน้ำ ถ้าคุณวางแผนจะเก็บดอกเห็ดแค่รอบแรกแล้วรื้อทิ้งทำใหม่ คุณก็อบแค่ 2-3 ช.ม. ก็พอ หากคุณคิดจะเก็บรอบสองหรือสามด้วย ก็ต้องอบไอน้ำให้นานขึ้นไม่เช่นนั้น เห็ดอื่นจะขึ้นงามกว่าเห็ดฟางในการเก็บเห็ดรอบหลัง ๆ
เหล่านี้เป็นความรู้ทางทฤษฏีที่คุณต้องรู้ ไม่เช่นนั้น คุณก็จะเพาะเห็ดได้มากบางน้อยบาง ขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิของอากาศ ความชื้น ความสูงและความหนาของกองวัสดุเพาะ จำนวนวันในการหมักวัสดุเพาะ ของแต่ละครั้ง ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอ
พูดแบบนี้เกษตรกรบางท่านคงพอจะเข้าใจได้ว่า ทำไมบางคนจึงทำแบบเดียวกับเราแล้วได้ผลผลิตที่ดี แต่ทำไมเราทำแบบเดียวกับเขาไม่ได้ผลเหมือนกัน
ในการอบรมการเพาะเลี้ยงหรือคำแนะนำขั้นตอนปฏิบัติการเพาะเลี้ยง ไม่มีผู้ใดให้รายละเอียดเหล่านี้ เพราะจะทำให้ดูยุ่งยาก และเสียเวลาในการอบรม ทำให้เกษตรกรดูยากไม่อยากเพาะเลี้ยง
ที่กล่าวนี้เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับอุณหภูมิและระยะเวลาในการอบไอน้ำเท่านั้นนะครับ จริงแล้วในแต่ละขั้นตอนการปฏิบัติทุกขั้นตอนมีเหตุผลของการปฏิบัติอยู่ ถ้าคุณรู้เหตุผลมันก็ไม่มีอะไรเป็นปัญหาให้คุณ แต่ถ้าคุณไม่รู้ ปัญหาของคุณก็ยังวนเวียนเกิดขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ได้แก้ไข

 2/4/68


 ช่องระบายอากาศ

ไม่ได้เข้ามานานมาก เห็นมีคนเข้ามาสนใจอ่านการเพาะเห็ดฟางเป็นจำนวนมากเลยเข้ามาเขียน Blog เพิ่มเผื่อมีรายได้เข้ามา 555

วันนี้ขอเสนอเรื่อง ช่องระบายอากาศศศศศศศ


เรื่องอากาศในการเพาะเห็ดฟางเป็นเรื่องสำคัญ สามารถชี้วัดอัตราการเกิด ปริมาณการรอดของเห็ดได้ หลังจากที่ทำการตัดใยแล้ว ทุกคนรู้ดีว่าต้องเปิดให้อากาศ ใน Blog นี้เพื่อใชhออกแบบ ขนาดและความสูงต่ำช่องระบายเพื่อที่เห็ดจะได้รับประโยชน์มากที่สุด และสูญเสียประโยชน์น้อยที่สุด สามอย่างที่ผู้เพาะเห็ดควรจดจำเกี่ยวกับอากาศคือ
1.
ความชื้นจะออกไปพร้อมกับอากาศเสมอ
2.
ในโรงเรือน ออกซิเจนจะมีมากด้านลล่าง และคาร์บอนไดออกไซด์มีมากข้างบน
3.
เห็ดดอกเล็กและเห็ดดอกใหญ่ต้องการอากาศมากน้อยต่างกัน

หลังจากนี้จะขออธิบายเรื่องช่องระบายคร่าวๆ ครับ การออกแบบช่องระบายอากาศที่ดี ควรจะมี 3 ระดับคือ

ระดับที่ 1 ล่างสุด สำหรับอากาศเข้า จะอยู่บริเวณ ต่ำกว่าชั้นเพาะล่างสุดนิดนึง เพื่อให้อากาศเข้า และป้องกันเห็ดคล้ำเวลาลมพัด เราจะใช้รูระบายนี้เมื่อต้องการเพิ่มออกซิเจนในโรงเรือน เช่นเมื่อเห็ดเป็นขน หรือหลังตัดใย เมื่อ ออกซิเจนเพียงพอแล้ว ควรจะปิดหรืองดใช้ช่องนี้เพราะ เป็นช่องที่จะพาความชื้นออกไปมากทำให้หน้าชั้นแห้ง เราจะเปลี่ยนไปใช้ระดับสองแทน
*
ไม่ควรเปิดหรือทำช่องระบายติดพื้น เพราะจะทำให้เชื้อโรคจากดินเข้าไปง่าย รวมทั้ง งู หนู แมลง จะเข้าไป

ระดับที่ 2. จะทำบริเวณ ชั้นบนสุดของชั้นเพาะ เป็นช่องที่ใช้ระบายอากาศ ออก และให้อากาศเข้าได้ ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป. เราจะใช้ช่องระบายนนี้เมื่อ ต้องการระบายอากาศน้อยๆคือหลังจากเห็ดจับเม็ด แล้วโดยเริ่มเปิดจากน้อยไปหามาก ตามการเติบโตของเห็ดจากเล็กไปหาไหญ่ เมื่อเริ่มใช้ช่องระบายระดับนี้ ควรจะเริ่มปิดช่องระบายด้านล่าง หรือเปิดเป็นครั้งคราว ข้อดีของช่องระบายระดับนี้คือ คุมไม่ให้วัสดุสูญเสียความร้อน และความชื้นเร็ว

ระดับที่3. บริเวณ จุดสูงสุดของโรง ได้แก่ หลังคา หรือจั่ว ถ้าโรงเรือนเราใช้แสลนคลุมไม่ควรทำรูระบายบนหลังคาเพื่อป้องกันฝน แต่ให้ทำหน้าจั่วแทน แต่ขนาดรูตัองใหญ่พอ หรือจะติดพัดลมดูดอากาศแทนก้อได้ แต่ต้องออกแบบแยกจากกันไม่ให้มีปัญหาตอนอบไอน้ำ การติดพัดลมช่วยได้เยอะ โดยใช้ร่วมกับช่องระบายระดับ1 และ2 เราจะได้ไม่ต้องเจาะรูระบายเยอะ เห็นบางคนเจาะซะพรุน 
รูบนสุดนี้ใช้สำหรับระบายอากาศเสีย เราจะเปิดช่องนี้ตั้งแต่ตัดใยจนถึงเก็บหมดรุ่น 
.......
จบแค่นี้ครับ