Translate

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตอบคุณ อ๊อฟแอฟ อ๊อฟแอฟ

วิธีการหมักวัสดุเพาะโดยใช้ขี้ฝ้ายเป็นวัสดุเพาะ ที่ใช้ในการเพาะแบบโรงเรือน
1.นำก้อนขี้ฝ้ายลงบ่อแช่ ใช้คราดหรือคราดมือเสือตะกุยออกโดยฉีดน้ำรดตลอดจนหมดก้อน โดยอย่าให้น้ำล้นออกไป ปริมาณน้ำที่ใช้เพียงแค่พอแช่ขี้ฝ้ายได้เปียกหมด เพื่อไม่ให้สูญเสียธาตุอาหารไปกับน้ำ ย่ำให้ทั่ว หรือใช้คราดตะกุยไปจนขี้ฝ้ายเปียกน้ำทั่ว หากมีเปลือกถั่วก็ให้ใส่ลงไปผสมแล้วย่ำไปด้วยกัน
2.หากคุณทำบ่อแช่ตามที่ผมเคยกล่าวไว้ การสะเด็ดน้ำก็เพียงแต่โกยขึ้นมาไว้ตรงส่วนสูงของบ่อ โดยโกยให้สูง 70 ซ.ม. หาผ้าคลุมทับด้วยของหนัก แล้วจับอุณหภูมิในกองวัสดุ (ให้จับลึกลงไป 30-40 ซ.ม. จากขอบกองหมัก) หากวัสดุเพาะมีอุณหภูมิ 50 – 55 องศา (จับอุณหภูมิว่าใช้เวลาเท่าไร จึงได้อุณหภูมิ 50 – 55 องศา) ก็แสดงว่าใช้ได้แล้ว ให้ทำการกลับกอง โดยใช้คราดมือเสือตะกุยออกจากบ่อ หากคุณไม่ทำบ่อแบบที่ผมบอกในตอนต้น คุณจะต้องใช้การโกยขึ้นจากบ่อซึ่งจะเสียเวลามาก
3.การกลับกอง ให้กองวัสดุเพาะหนาเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นหนา 15 – 20 ซ.ม โดยแต่ละชั้นให้โรยอาหารเสริมตามสูตรของคุณที่มี เช่น ยิปซั่ม รำ ปูนขาว ปุ๋ย E.M ให้พอดีหมดตามส่วน โดยให้ความสูงของกองหมัก 70 ซ.ม ยาวไปเรื่อยจนหมดวัสดุเพาะ จับอุณหภูมิวัสดุเพาะว่าใช้เวลาเท่าไร จึงจะมีอุณภูมิสูงขึ้นถึง 50-55 องศา จะต้องกลับกองหมัก เพื่อให้กองหมักได้รับออกซิเจน และให้ก๊าซแอมโมเนีย(กลิ่นเหม็น)ที่เกิดจากการหมักจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมักเพื่อย่อยสลายธาตุอาหาร
4.จำนวนครั้งของการกลับกองวัสดุ ให้สังเกตจากว่า หากอุณหภูมิของกองหมักสูงขึ้นถึง 50 – 55 องศา โดยใช้เวลามากขึ้น ก็แสดงว่าขบวนการย่อยสลายของจุลรินทรีย์ ดำเนินไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว
การใข้วัสดุเพาะอื่นที่ไม่ใช่ขี้ฝ้ายก็ใช้หลักการเดี่ยวกันครับ และเหตุผลที่ผมไม่ระบุจำนวนวันและจำนวนครั้งที่กลับกองเพราะ
           1.อุณหภูมิของอากาศ ผมเคยเพาะเห็ดในฤดูหนาว อุณหภูมิของอากาศ 20 องศา การกลับกองแต่ละครั้งใช้เวลา 2 วัน ไม่เช่นนั้นอุณหภูมิในกองเพาะจะไม่สูงพอ อันนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมเกษตรกรรุ่นเก่าจึงทำการเพาะเห็ดในฤดูหนาวไม่กำไร เหตุผลก็คือกองเพาะย่อยสลายไม่หมด เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศต่ำ ทำให้อาหารที่ย่อยสลายแล้วน้อย เห็ดก็เกิดได้น้อย กองเพาะอุณหภูมิไม่สูงพอ ก็ทำให้เห็ดเกิดน้อยครับ
          2.ชนิดของวัสดุเพาะ และส่วนผสมของวัสดุเพาะ มีผลต่อความร้อนของกองเพาะ
          3.เคยมีข้อสงสันกันระหว่างนักวิชาการกับนักปฏิบัติว่า จำนวนวันที่ใช้หมักเท่าไรจึงเหมาะ เพราะในทางปฏิบัติถ้าหมักกองเพาะไว้นาน จะทำให้เก็บเห็ดได้มากกว่ากองเพาะที่หมักไว้เพียงไม่กี่วัน ผลจากการสังเกตและศึกษาของผมสรุปได้ว่า หากหมักวัสดุเพาะมากวันเกินไป จะทำให้วัสดุเพาะขาดความร้อน ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างเส้นใยเห็ด แต่การหมักไว้นานๆ จะเกิดจุลินทรีย์ ประเภทแอนทิโนมัยซิท(Actinomycetes) ซึ่งจุลินทรีย์ตัวนี้จะมีขนาดเล็ก สามารถแทรกตัวได้ดี เมื่ออบไอน้ำฆ่าเชื้อแล้วจะทำให้เส้นใยเห็ดเดินตามจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดดอกเห็ดเป็นจำนวนมากหรือเป็นพวง ซึ่งเรียกว่าเห็ดจับหัว การเพาะเห็ดในโรงเรือนส่วนใหญ่ ถ้าหมักวัสดุเพาะน้อยวันลักษณะการเกิดดอกเห็ดจะเกิดเป็นหัว ๆ แยกห่างจากกันแต่มีขนาดดอกโตมาก เพราะฉะนั้นถ้าคุณบริหารจัดการในเรื่องการหมักวัสดุเพาะไม่ดี จะทำให้คุณได้ดอกเห็ดจำนวนน้อย แต่มีขนาดใหญ่ ถ้าหมักมากวันจะทำให้คุณเก็บเห็ดได้เป็นพวง แต่ถ้ามากวันเกินไปก็จะทำให้เห็ดเกิดน้อยเนื่องจากกองเพาะขาดความร้อน
          4.ในขบวนการหมักที่มากวัน จะทำให้วัสดุเพาะขาดความร้อน ทำให้ต้องกองวัสดุเพาะหนาขึ้น เพื่อให้อุณหภูมิในกองเพาะสูงเพียงพอที่จะสร้างเส้นใยเห็ด อันมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตาม ดังนั้นคุณจึงต้องทำการเปรียบเทียบกันว่า ถ้าคุณใช้วัสดุเพาะแบบนี้ หมักจำนวนเท่านี้วัน กองหนา เท่าไร จึงให้ผลผลิตสูงสุด บนต้นทุนต่ำสุด การทดลองในขั้นตอนนี้คุณจะต้องทำในโรงเรือนขนาดเล็กที่ผมเคยบอกในตอนต้น เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ให้ได้ก่อน ลงทุนทำจริงครับ ในข้อที่ 4 นี้สำคัญมากนะครับ เพราะถ้าคุณสามารถประหยัดต้นทุนได้ 100 บาท โดยทำให้เห็ดเกิดเพิ่มขึ้นได้ 300 บาทต่อโรงเรือน จะทำให้ต่อโรงเรือนของคุณ สร้างรายได้ 400 บาทต่อครั้ง ถ้าทำหลายโรงเรือนในปี ๆ หนึ่ง เป็นเงินมากโขเลยนะครับ

 ขอบคุณที่สนใจครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น