Translate

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ตัดเส้นใยเห็ด

เรื่องการตัดเส้นใยเห็ดครับ
             หลังจากให้หัวเชื้อแล้ว จะเกิดเส้นใยเห็ด ในระยะนี้เชื้อเห็ดฟางต้องการไนโตรเจนเพื่อสร้างเส้นใย และต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด ต้องการความชื้นสูงทั้งในโรงเรือนและในกองเพาะ ต้องการอุณหภูมิภายในโรงเรือนระหว่าง 34-38 องศา
ถ้าทุกอย่างถูกต้อง ภายในโรงเรือนจะรู้สึกอุ่น ๆ และมีกลิ่นหอมของเห็ด
        หลังจากเส้นใยเห็ดขึ้นเต็มแล้ว และมีอาการเริ่มยุบตัว ซึ่งจะตกประมาณ 4-6 วัน แล้วแต่ความร้อนภายในกองเพาะ ถ้าความร้อนภายในกองเพาะสูงจะใช้เวลาน้อย เส้นใยเห็ดจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลอ่อน ให้เปิดช่องหน้าต่างโรงเรือนด้านบน และให้เริ่มเป่าอากาศเข้าภายในโรงเรือน พัดลมเป่าอากาศจะต้องให้ตัวใหญ่เข้าว่า ตัวนี้ประหยัดไม่ได้ ราคาประมาณ 3,500 – 4.500 บาท ถ้าซึ้อราคาถูก จะสังเกตได้ว่าพัดลมพอหรือไม่ให้ดูจากผนังโรงเรือน พลาสติกจะต้องพองโปร่งออกมาเพราะแรงลมอันนี้คือพัดลมแรงพอ ถ้าไม่พอเพราะโรงเรือนใหญ่ไป ให้ใช้ 2 ตัว การให้พัดลมที่แรงในเวลาสั้นจะทำให้สูญเสียความชื้นน้อยกว่า การให้พัดลมไม่แรงแต่ใช้ระยะเวลานาน ถ้างบน้อยก็ใช้วิธีเปิดให้อากาศถ่ายเทตอนเช้าและเย็น ประมาณ1 ชั่วโมง (ห้ามเปิดตอนที่มีลมแรงนะครับ)หรือตอนที่อากาศในโรงเรือนร้อนมาก     ในการเลี้ยงเห็ดถ้าเห็ดได้รับลมเฉี่อยเห็ดจะเป็นสีคล่ำขึ้น
เห็ดที่โดนลม
แต่ถ้าลมที่มีแรงอัดเข้าไปจะไม่ทำให้เห็ดเปลี่ยนสี ในระหว่างที่ให้พัดลมเป่าอากาศ ก็ให้ทำการฉีดน้ำเป็นละอองฝอย เป็นฝอยจริง ๆ นะครับ ห้ามเป็นหยดน้ำ หรือฉีดมากจนเป็นหยดน้ำเกาะติดเส้นใย ถ้าเส้นเย็นเห็ดโดนน้ำจะทำให้ไม่จับตัวเป็นดอก วัตถุประสงค์ของการฉีดน้ำตัดเส้นใย ก็เพื่อบังคับให้เห็ดจับดอกพร้อมกันจะได้ไม่ทยอยเกิด จะทำให้ทำงานง่าย ถ้าต้องการทยอยเก็บเห็ดขายก็ไม่ต้องฉีดตัดเส้นใย

หลังฉีดตัดเส้นใยแล้ว เห็ดก็ยังต้องการความชื้นที่สูงมากอยู่ และต้องการก๊าซออกซิเจนมากขึ้น รักษาอุณหภูมิ 28-32 องศา เปิดช่องหน้าต่างด้านล่างโรงเรือน และให้แสงสว่างเท่ากับแสงที่คุณสามารถอ่านหนังสือได้ ประมาณวันละ 3-4 ชั่วโมงก็พอ ถ้าเวลากลางวันแสงพอ ก็ไม่ต้องให้แสงแล้ว ถ้ามีส่วนไหนได้รับแสงสว่างไม่พอ จะทำให้จับดอกน้อยกว่าส่วนที่ได้รับแสง เพราะความสว่างของแสงมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดการจับดอก ส่วนระยะเวลาให้แสงนานหรือไม่นานไม่มีผลทำให้เห็ดจับดอกมากขึ้น
ส่วนระยะเวลาในการเปิดพัดลมเป่าอากาศ ให้สังเกตุจากการที่คุณอยู่ภายในโรงเรือนแล้วจะรู้สึกหายใจสบายหายใจคล่อง คือใช้ได้ หากรู้สึกอึดอัดแสดงว่ามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการหมักของวัสดุเพาะเห็ดภายในโรงเรือนมากไป ก็ให้เปิดพัดลมเป่าอีก เพื่อเพิ่มออกซิเจนและไล่ก๊าซคาร์บอนได้ออกไซค์ ความถี่หรือห่างในการให้อากาศขึ้นอยู่กับกองเพาะที่แตกต่างกันทั้งจำนวนวันที่หมัก ความหนา ความเป็นกรด แต่ถ้าคุณเป่าลมมาก ๆ จะทำให้กองเพาะแห้ง ดังนั้นถ้าเห็นกองเพาะเริ่มมีความชื้นน้อยลง ให้ทำการให้น้ำโดยฉีดน้ำรดพนังโรงเรือนและพื้นโรงเรือนให้ชุ่ม จะเป็นการช่วยได้ และในการเพาะครั้งหน้าต้องปรับปรุงกองเพาะให้มีความเป็นกรดน้อยลง โดยให้พิจารณาจาก
-ใส่อาหารเสริมมากไป โดยเฉพาะรำ หรือปุ๋ย
-ใส่ปูนขาว (ปูนมาน) น้อยไป
-หมักวัสดูเพาะนานไป
-กลับกองน้อยไป หรือวัสดุเพาะไม่ร่วนพอ
-วัสดุเพาะเปียกไป -กองวัสดุเพาะแน่นไป
อ่านไปอ่านมาการเพาะเห็ดมันเรื่องมากจริง ๆ แต่จริง ๆ แล้ว สำหรับคนที่กำลังประสบปัญหาอยู่จะร้องว่าใช่เลย อันนี้เราไม่รู้ นี่เลยปัญหาของเรา สำหรับผู้ทียังไม่ได้ลงมือทำอ่านแล้วคงไม่อยากทำ เพราะคิดว่ามันเรื่องมากจริงๆ ครับ ในการทำงานทุกเรื่องถ้าทำไปโดยไม่รู้อะไรจะเห็นว่าง่ายและจะทำงานไป เพราะยังไม่เห็นปัญหา ที่เขียนไว้มาก ๆ และพยายามให้ละเอียดเพื่อให้รับรู้ปัญหาไว้ก่อน ตอนทำจะได้ระมัดระวัง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก็จะน้อยลง ไม่มีหนทางแห่งความสำเร็จเส้นไหนที่ปูไปด้วยดอกกุหลาบครับ ตัวผมเองยังเสียดายว่าตอนผมทำไม่มีแหล่งข้อมูลเหล่านี้ ความรู้ทุกอย่างต้องศึกษาค้นคว้ามาเอง ด้วยความทุกข์ยากมาก ๆ ครับ ทุกท่านที่มีโอกาสได้อ่านบทความนี้ผมคิดว่า คุณได้เปรียบคนอื่น ๆ อีกหลาย ๆ คน ที่ไม่ได้มีโอกาสรับรู้ เพราะฉะนั้นถ้าได้ข้อมูลจากผมและคิดตามบ้าง ไปอบรมกองเตี้ยและโรงเรือนสักอย่างละครั้ง ไปดูเขาทำโรงเรือนจริงอีกครั้ง กลับมาอ่านทบทวนแล้วค่อยลงมือทำ รับรองได้คุณมีโอกาสสำเร็จมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ครับ
ตอนต่อไปจะพูดเรื่องการดูแลรักษาในระยะเก็บดอกเห็ด การเพาะเห็ดจะกำไรมากหรือมาก ๆ ผมว่าอยู่ตรงนี้แหละครับ
แนะนำพูดคุยกันบ้างนะครับ ไม่อยากพูดคนเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น