Translate

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

การดูแลรักษาในระยะเก็บดอกเห็ด

เรื่องการดูแลรักษาในระยะเก็บดอกเห็ด
หลังจากฉีดตัดใยแล้ว ระยะนี้เห็ดจะมีความความอ่อนแอที่สุด ถ้าไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสมแล้วจะไม่ให้ดอก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้
1.อุณหภูมิภายในโรงเรือนควรจะอยู่ประมาณ 28-32 องศา 


2.อากาศ ช่วงนี้ถ้าในโรงเรือนมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์สูง จะทำให้เห็ดไม่จับดอก ดังนั้นความหมั่นสำรวจอากาศภายในโรงเรือน โดยการเข้าไปภายในโรงเรือน ถ้าคุณอยู่ไม่สบาย คืออึดอัดหรือไม่เย็นสบาย แสดงว่าอากาศน้อยไป ต้องใช้พัดลมเป่าให้อากาศ 


3.ความชื้น ก่อนให้พัดลมเป่าอากาศ ให้สังเกตก่อนว่า ความชื้นในกองเพาะเพียงพอหรือไม่ โดยดูจากการเอามือกดไปที่กองเพาะเบา ๆ พอยุบลงไปเล็กน้อยแล้วต้องรู้สึกเปียก คือพอดี ถ้ารู้สึกแห้งให้ฉีดน้ำผนังโรงเรือนและพื้นให้ชุ่ม ห้ามให้น้ำในกองเพาะอย่างเด็ดขาด และให้หมั่นให้น้ำให้บ่อย ๆ ตลอดเวลา ส่วน ในกรณีที่เปียกไป คือเอามือกดแล้วมีน้ำติดนิ้วมือมา ให้หยิบเอาวัสดุเพาะตามแนวลึกขึ้นมาหนึ่งกำมือแล้วบีบให้พอแน่น ดูว่าถ้ามีน้ำหยดหรือมีน้ำออกมาตามร่องนิ้วมือ ก็คือเปียกไป ให้เป่าลมช่วยจนกว่าหน้ากองเพาะจะพอแห้ง แล้วน้ำในกองเพาะจะระเหยออกมาช่วยผิวของกองเพาะให้พอดีไปเอง หากคุณซื้อเครื่องจับอุณหภูมิตามที่ผมแนะนำให้ในตอนต้น ๆ คุณสามารถดูได้จากค่าวัดความชื้น ซึ่งเครื่องมีให้มาด้วยถ้าคุณเป็นมือใหม่มีตัวนี้จะได้เห็นค่าความชื้นให้อยู่ที่ 85-90 เปอร์เซ็นต์ คือถูกต้อง และต้องอย่าลืมว่าเครื่องวัดค่าความชื้นที่ตัวมัน ไม่ใช่ที่สายที่โยงออกไป ฉะนั้นต้องเอาเครื่องไปไว้แนบกับกองเพาะ ถึงจะได้ความชื้นที่กองเพาะ 

4.แสง หากคุณจัดทำโรงเรือนตามที่ผมแนะนำข้างต้นเพียงคุณเปิดตาข่ายพลางแสงบนโรงเรือนออกในช่วยเช้า และให้ปิดในต้องเที่ยงที่แดดเริ่มแรง แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว การให้แสงนั้นผมเคยบอกไว้ในตอนที่แล้วนะครับ 





ถ้าทุกอย่างถูกต้อง ภายใน 1-2 วันเห็ดจะเริ่มจับเป็นเม็ดเท่าหัวเข็มหมุด ให้รักษาอุณหภูมิ 30-34 องศา แสงไม่ต้องแล้วส่วนความชื้นให้คงไว้ที่ 80-90% ตลอดไป หลังจากนั้นเห็ดจะเจริญจนได้เท่ากับหัวกระดุมเสื้อ ในระยะนี้ถ้าอุณหภูมิภายในโรงเรือนต่ำกว่า 28 องศา ในช่วงกลางคืน คือประมาณ ตี 2 – 4 แสดงว่าอากาศนอกโรงเรือนเย็นเกินไป จะมีผลทำให้เห็ดหยุดการเจริญเติบโต เพราะฉะนั้นในช่วงที่มีอากาศหนาว คุณจะต้องกองวัสดุเพาะให้หนาขึ้น โดยให้จับอุณหภูมิภายในกองเพาะสูงถึง 41 องศา การจับอุณหภูมิภายในกองเพาะให้จับหลังจากกองวัสดุเพาะเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอให้ถึงกลางคืนเวลาตี 2-4 ถ้าจับอุณหภูมิได้ไม่ถึง 41 องศา เช้าก็ให้กองเพิ่มเข้าไปอีก ก็จะทำให้ผลผลิตไม่น้อยลงในช่วงอากาศเย็น อันนี้เป็นเคล็ดสำคัญในการเพาะในช่วงอากาศเย็น ซึ่งคุณจะขายเห็ดได้ในราคาสูงขึ้น 10-30 บาท ต่อ ก.ก. โดยผลผลิตไม่ลดลง เพียงแต่เพิ่มต้นทุน 10-15 % เท่านั้น
อุณหภูมิภายในโรงเรือนในช่วยกลางวัน ถ้าหากสูงมาก คือตั้งแต่ 38 องศาขึ้นไป จะทำให้โรงเรือนสูญเสียความชื้น ให้คุณปิดตาข่ายพลางแสง และให้น้ำผนังโรงเรือนและพื้น จะทำให้อุณหภูมิลดลงไป 2-4 องศา หากให้น้ำแล้วอุณหภูมิยังสูงอยู่ก็ให้เปิดพัดลมเป่าอากาศช่วยจนอุณหภูมิลดลงก็ให้ปิด ให้รักษาอุณหภูมิและความชื้นเช่นนี้ตลอดไปจนเก็บเห็ดรอบแรกเสร็จ
ในระยะที่เห็ดโตในระยะหัวกระดุม ให้ฉีดพ่นสารดังนี้
1.E.M. 200 ซี.ซี.
2.วิตามินบี 1 จำนวน 1 เม็ด
3.สารจิบเบอเรลลิน ยี่ห้อไหนก็ได้ อัตราการใช้ให้ใช้ครึ่งหนึ่งของที่ระบุไว้ตามฉลาก ห้ามใช้มากกว่านี้ครับ เพราะดอกเห็ดจะยืดยาวมากไป ไม่สวย
4.น้ำ 20 ลิตร

ให้ฉีดพ่นทุกวัน ช่วงเช้า ถ้าเริ่มเก็บดอกเห็ดแล้วให้ฉีดหลังจากเก็บดอกเห็ดเสร็จ การฉีดพ่นนี้จะเพิ่มน้ำหนักเห็ดได้มากกว่า 15%

              เมื่อเก็บเห็ดรอบแรกเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 7 – 12 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาของวัสดุเพาะ ถ้ากองเพาะหนามากเห็ดจะเกิดค่อยข้างจะพร้อมกัน ถ้ากองเพาะบางเห็ดจะทยอยเกิดทำให้ทำงานยาก เก็บได้ที่ละไม่มากแต่เก็บได้หลายวัน จนปนกันไปหมดไม่รู้ว่าเป็นการเก็บเห็ดรอบแรกหรือรอบสอง และปกติถ้าอุณหภูมิภายในกองเพาะต่ำกว่า 34 องศา เห็ดก็จะเริ่มไม่ให้แล้วครับ ทั้งโรงเรือนเก็บได้ไม่กี่ ก.ก. ให้รื้อทิ้งได้ครับ นอกจากนี้ในกองเพาะก็จะเริ่มมีแมลงไรด้วย

               การพิจารณาว่าจะรื้อทิ้ง แล้วเริ่มทำเห็ดใหม่หรือไม่ให้พิจารณาจากอุณหภูมิภายในกองเพาะ ถ้าต่ำกว่า 36 องศาจะเริ่มให้เห็ดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตามอุณหภูมิที่ลดลง เกษตรกรบางรายก็ใช้วิธีทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูง เพื่อให้กองเพาะมีความร้อนเพียงพอที่จะสร้างใยเห็ดรอบใหม่ แต่คุณจะเจอปัญหาในเรื่องความชื้นไม่พอตามมาที่หลัง คนที่จะทำเห็ดหลาย ๆ รอบ ต้องควมคุมความชื้นให้เป็น สำหรับผู้ที่ใช้ทลายปาล์มเป็นวัสดุเพาะ ทลายปาล์มสลายยากคงอุณหภูมิได้นาน ส่วนใหญ่จะให้เห็ดทยอยเกิดไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ควบคุมบังคับ ซึ่งเป็นเหตุให้ใช้เวลาในการเพาะนานเกินไป ต้องบังคับให้ได้ถึงจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ดังนั้นในการทำเห็ดแบบโรงเรือน คุณจะต้องวางแผนก่อนตั้งแต่แรกว่าคุณจะเก็บเห็ดกี่รอบ เพราะถ้าเก็บ 2 หรือ 3 รอบการกองวัสดุเพาะจะต้องให้หนา และการอบไอน้ำก็ต้องอบในระยะเวลาที่ถูกต้อง การจัดอาหารเสริมให้เหมาะต่อระยะเวลาการเก็บ อันนี้ต้องอาศัยประสบการณ์
หลังจากเก็บเห็ดรอบแรกเรียบร้อยแล้ว ให้ใช้
-E.M. 300 ซี.ซี.
-วิตามินบี 1 จำนวน 1 เม็ด
-แป้งที่คุณใช้ผสมหัวเชื้อ 5 ช้อนโต๊ะ
-น้ำ 20 ลิตร
ใช้ลาดลงบนแปลงเพาะ โดยเฉลี่ยให้ได้ประมาณ ต.ร.ม. ละ 1 ลิตร หลังจากนั้นให้หยิบวัสดุเพาะมา 1 กำมือ โดยหยิบให้ลึกลงไปตามแนวลึก ลองบีบดูให้พอแน่น ถ้ารู้สึกเปียกก็แสดงว่าให้น้ำพอแล้ว หลังจากนั้นก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับตอนให้หัวเชื้อแล้วเลี้ยงเส้นใยเห็ด เห็ดก็จะเริ่มสร้างเส้นใยใหม่ แต่จะใช้เวลามากกว่าเดิม 1-2 วัน ส่วนปริมาณเห็ดที่จะเก็บได้ขึ้นอยู่กับความร้อนภายในกองเพาะเป็นหลัก ถ้าหลังจากให้น้ำแล้ว วันรุ่งขึ้นถ้าจับอุณหภูมิภายในกองเพาะได้ไม่ต่ำกว่า 36 องศา คุณจะเก็บเห็ดได้ประมาณ 50-60 % ของการเก็บเห็ดรอบแรก
กล่าวมาจนถึงบัดนี้    ผมหวังว่ารายละเอียดที่ให้คงจะมากเพียงพอให้เกษตรกรรายใหม่ และผู้ที่เพาะเลี้ยงแล้วกำลังประสบปัญหา ได้พอมีความรู้เพิ่มขึ้น 





1 ความคิดเห็น: