Translate

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หน้าที่ขอวัสดุเพาะเห็ด(เครื่องหมัก)

เมื่อวันพฤหัสที่แล้วมีคนโทรเข้ามาถามเรื่องการเพาะเห็ดฟางจาก อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไป ผมดีใจนะครับที่บทความของผมมีคนอ่านถึงจะน้อยแต่ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในความสำเร็จของหลายๆคน ซึ่งแต่ก่อนผมก็เคยถามและเคยมีปัญหาหลายหลายอย่างกับการเพาะเห็ดก็ได้สอบถามและศึกษากับผู้มีความรู้หลายๆท่าน และหน้าที่แต่ละอย่างวัสดุเพาะเรก็จำเป็นต้องรู้ด้วยนะครับ ซึ่งจะแบ่งเป็น
1.  วัสดุหลักที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟาง มีหลายชนิด แต่ที่แนะนำให้ใช้ในการเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน มี 3 ชนิด คือ ทลายปาล์ม กากมันสำปะหลัง และขึ้ฝ้าย ส่วนวัสดุอย่างอื่นไม่แนะนำ เพราะมีธาตุอาหารน้อยกว่าทั้ง 3 ชนิด ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นวัสดุเพาะในเชิงพาณิชย์ แต่เนื่องจากแหล่งที่ผมเพาะเห็ด สามารถห กากมันสำปะหลังได้โดยประหยัดต้นทุนที่สุด ผมจึงใช้ กากมันสำปะหลังเป็นวัสดุหลัก ดังนั้นที่กล่าวต่อไปนี้ จึงเน้นในเรื่องของ กากมันสำปะหลังเป็นหลัก หากท่านใช้วัสดุเพาะอื่น ก็นำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ได้ครับ 
        ส่วนเกษตรกรท่านใดจะเลือกใช้วัสดุใด ให้คำนึงถึงต้นทุน คือค่าวัสดุบวกค่าขนส่ง และวิธีการจัดการการผลิตเป็นหลัก คือทลายปาล์ม สามารถเก็บผลผลิตได้นาน เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องแรงงาน ส่วนกากมันกับขึ้ฝ้าย นิยมเก็บเห็ดแค่รอบแรกรอบเดียว ใช้ในกรณีที่มีโรงเรือนน้อย และไม่มีปัญหาเรื่องค่าแรง คือเห็ดจะเก็บได้รอบแรกมากที่สุด เก็บรอบแรกแล้วรื้อทิ้งทำใหม่ เพราะมีกำไร (magin) สูง ไม่ให้เสียเวลาโรงเรือน แต่ถ้าโรงเรือนมีมาก ก็จะเก็บเห็ดสองรอบ เพราะในการเก็บรอบสอง เกษตรกรไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้ผลผลิต แต่จะเก็บผลผลิตได้น้อยลง คือจะเหลือประมาณ 20- 40 เปอร์เซ็น ของรอบแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของกองเพาะ ส่วนในรอบที่สาม ส่วนใหญ่ในการเพาะเห็ดโรงเรือนจะไม่ทำ เพราะผลผลิตน้อย และมีปัญหาเรื่องแมลงไรมากขึ้นตามระยะเวลาการเก็บ ซึ่งสัมพันธ์กับระยะเวลาอบไอน้ำวัสดุเพาะ 
          ในกรณีที่ไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน การเก็บเห็ดรอบแรกรอบเดียว ต้องใช้วัสดุเพาะเป็นจำนวนมาก ใช้เงินลงทุนมาก แต่ให้อัตราผลตอบแทนรายได้ต่อระยะเวลา ได้สูงสุด แต่ถ้าลงทุนสร้างโรงเรือนมาก ๆ ผลผลิตที่เก็บได้ในรอบที่สอง มีผลตอบแทนคุ้มค่าต่อเงินลงทุนสร้างโรงเรือน 
          ให้รายละเอียดแค่นี้คิดว่าท่านเกษตรกร น่าจะตัดสินใจได้แล้ว ว่าจะเลือกวัสดุใดและวิธีการใดในการเพาะเลี้ยงเห็ด 
          เหตุที่ต้องมีการหมักวัสดุเพาะ เพราะว่าธาตุอาหารในวัสดุเพาะไม่อยู่ในรูปที่เห็ดสามารถนำไปใช้ได้ จึงต้องหมักให้จุลินทรีย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ให้ทำการย่อยสลายธาตุอาหารให้เห็ดฟางนำไปใช้ได้ และในการหมักก็จะต้องมีการเติมอาหารเสริม เพื่อกระตุ้นกิจกรรมของจุลินทรีย์ และเพิ่มธาตุอาหารเสริม เพื่อให้เห็ดมีการเจริญเติบโตที่ดี 
ในการหมักวัสดุเพาะจะต้องมีการกลับกอง เพื่อเติมก๊าซออกซิเจน ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกิดปฏิกิริยา และก๊าซแอมโมเนียที่เกิดจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมักเพื่อย่อยสลายธาตุอาหาร ทำให้อุณหภูมิในปุ๋ยหมักสูงขึ้น 
2.  อาหารเสริม ได้แก่พวก ปุ๋ย ยิบซั่ม รำ E.M. มูลสัตว์ และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละที่ใช้ไม่เหมือนกันมีสูตรมากมายแตกต่างกันออกไป ดังนั้นคุณควรเข้าใจหน้าที่ของแต่ละตัว เพื่อที่จะได้นำสูตรต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกองวัสดุเพาะ เช่นอุณหภูมิ และความชื้น และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย 
          - เห็ดต้องการไนโตรเจนไปใช้ในการสังเคราะห์โปรตีน เพื่อผลิตเส้นใย และเนื้อเห็ด เห็ดจะได้โปรตีนจากจุลินทรีย์ที่เกิดในการหมักวัสดุเพาะ และการเติมปุ๋ยยูเรีย ก็เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมัก และเติมไนโตรเจนให้วัสดุเพาะ 
          - เห็ดต้องการธาตุอาหารรอง อันได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ซึ่งมีส่วนทำให้เห็ดมีการเจริญเติบโตที่ปกติ การเติมยิปซั่มคือการเติมแคลเซียม ส่วนฟอสฟอรัสกับโปตัสเซียม ผมจะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ ส่วนธาตุอาหารรองอื่นส่วนใหญ่มีเพียงพออยู่แล้ว 
          - รำ มีธาตุอาหารสูง เป็นแหล่งน้ำตาลและไนโตรเจน เมื่อย่อยสลายจะให้โปรตีนแก่เห็ด ทำให้เจริญได้ดี และเห็ดมีน้ำหนัก 
          - E.M. ที่ได้จากการหมักกากน้ำตาล และผลไม้ การหมักทำให้กากน้ำตาล มีสารน้ำตาลกลูโคสซึ่งเห็ดนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้เลย และผลไม้ที่มีรสหวานเมื่อหมักก็จะได้น้ำตาลบางส่วน พร้อมวิตามินที่อยู่ในผลไม้ ก็ช่วยให้เห็ดเจริญได้เป็นปกติ ในการหมัก E.M. ผมจะใช้ผลไม้หลาย ๆ ชนิด เพื่อให้มีธาตุอาหารรองที่หลากหลาย แต่เน้นให้มีเปลือกสับปะรดมาก ถ้าได้ผลสับปะรดได้ยิ่งดี ในสัปปะรดมีโฮโมนที่ช่วยเร่งการเกิดตา จะช่วยให้เห็ดเกิดได้ดีขึ้น ผลไม้ผมจะหาซื้อจากร้านขายผลไม้ที่เขาปลอกเปลือกทิ้ง หรือผลไม้ที่สุกงอมเกินขาย หรือเสียบางส่วน นำมาหมักกับกากน้ำตาล และเหตุผลที่นำเครื่องดื่มบำรุงกำลังมาใช้ในการเกษตร เพราะมีกลูโคสและวิตามินสูง ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าใช้ E.M. ในปริมาณที่พอดี จะให้ผลดีกว่าการใช้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ในราคาที่ถูกกว่า ที่ต้องบอกว่าในปริมาณที่พอดี เพราะว่า ใน E.M. มีธาตุอาหารที่เห็ดสามารถนำไปใช้ได้เลยอยู่สูง 
แต่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ถ้านำไปใช้หลังอบไอน้ำ การใช้มากไปจะทำให้วัสดุเพาะเกิดวัชเห็ด ถ้าใช้ในปริมาณที่พอเหมาะจะเพิ่มน้ำหนักเห็ดได้ 10-20 เปอร์เซ็น 
          -  มูลสัตว์ ได้แก่ ขี้วัว ขี้ควาย ขี้ม้า ขี้ไก่ ขี้หมู ตากแห้ง มูลสัตว์ที่ใช้ได้ดีที่สุดคือขี้หมู เนื่องจากมีธาตุอาหารที่หลากหลาย ในการเพาะเห็ดที่ต้องการเก็บผลผลิตนาน ๆ ควรใข้มูลสัตว์หมักด้วย ทั้งนี้เพราะสลายตัวอย่างช้า ๆ เพื่อให้เห็ดไปใช้ในการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งมูลสัตว์และรำ ต้องใช้ในปริมาณที่พอดี เพราะถ้าใช้น้อยไปจะไม่เห็นความแตกต่างของจำนวนผลผลิต ถ้าใช้มากไปจะเป็นพิษกับดอกเห็ดในภายหลัง 
          -  อื่น ๆ ได้แก่ อาหารหมักที่ขายเป็นถุงเพื่อหมักวัสดุเพาะ สารกระตุ้น ยาเร่งๆ โฮโมนเห็ดต่าง ๆ ผมไม่แนะนำให้ใช้ เพราะผมใช้แล้วไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการใช้กับไม่ใช้ พิสูจน์ไม่ได้ ไม่เห็นผลเป็นนัยสำคัญ หรือชัดเจน 

           ดังนั้นเกษตรแต่ละรายจะได้ส่วนผสมที่แตกต่างกันไป ตามแต่วัสดุที่ใช้ และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง อันเป็นที่มาของสูตรที่มีมากมายแตกต่างกันออกไป สูตรแต่ละสูตรใช้ต่างที่ต่างสิ่งแวดล้อมให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันครับ ดังนั้นต้องใช้สูตรใครสูตรมัน ซึ่งถ้าหากคุณจะทำอย่างจริง ๆ จัง ต้องหาสูตรของตัวเองออกมาก่อน อันนี้ถึงจะดูแล้วยุ่งยากเกินไปสำหรับเกษตรกรทั่ว ๆ ไป แต่สำคัญมากนะครับ ถ้าใครทำได้จะมีผลเรื่องต้นทุนการผลิต และ จำนวนผลผลิตที่ได้ในแต่ละครั้ง ถ้าคุณทำนาน ๆ ให้รายได้ในปี ๆ แตกต่างกันมากเลย ถ้าทำ 5 โรงเรือนรายได้ต่างกันเป็นแสนนะครับ ดังนั้นเกษตรกรที่มีสูตรที่เหมาะกับตัวเองจึงทำรายได้ได้เป็นจำนวนมาก แต่แกษตรกรบางรายไม่ได้ผล ต้องเลิกทำไป ตรงส่วนนี้ถ้าเกษตรกรรายใดไม่เข้าใจ ให้ โทรมาถามได้นะครับ เพราะว่าเข้าใจยากหน่อย การเขียนอธิบายทำได้แค่นี้ครับ บางท่านที่มีการศึกษาหน่อยจะอ่านแล้วจะเข้าใจเลย ว่าเป็นการทดลองแบบ CRD (Completely Randomized Design) โดยแบ่งการทดลองออกเป็นทรีตเมนท์ แต่บางท่านไม่รู้เรื่อง ก็ติดต่อมานะครับท่าน อยากให้ได้เงินเยอะ ๆ 
3. การหมักวัสดุเพาะ หลังจากที่มีสูตรส่วนผสมของท่านแล้วจะต้องมีการหมักวัสดุเพาะ ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องคำนึง ดังนี้ 
-ความร้อนของกองวัสดุเพาะ 
-อุณหภูมิของอากาศรอบกองเพาะ 
-ความชื้น หรือความเปียกของวัสดุเพาะ 
-กลิ่นของกองวัสดุเพาะ 
          ในการหมักวัสดุเพาะ ส่วนใหญ่จะแนะนำให้เกษตรกรว่า วันที่ 1 ให้ทำอะไร วันที่ 2 ทำอะไร วันต่อ ๆ ไป ทำอะไร จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่กล่าวถึงข้างบน เป็นสาเหตุหลักที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเกษตรกรควรทำอะไร 
อย่าท้อถอยและเห็นว่ายุ่งยากนะครับ ความยุ่งยากเหล่านี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ให้ความรู้ในการเพาะเลี้ยงมักจะไม่พูดถึง และมีส่วนเป็นอย่างมากในการทำให้ที่ผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่ ทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ การที่จะทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่น ก็ต้องมีความพยายามมากกว่าคนอื่น คุณยิ่งรู้มากเท่าไร คุณยิ่งมีความเป็นมืออาชีพมากเท่านั้น โอกาสสร้างรายได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ที่คุณมี 
ติชม หรือแนะนำเพิ่มเติมมาบ้างนะครับท่าน

1 ความคิดเห็น:

  1. มือใหม่หัดทำค่ะ ได้ความรู้จากบทความของคุณเยอะมาก นำไปปรับใช้ได้ ขอบคุณสำหรับสาระดีๆ ที่นำมาฝาก จะคอยติดตามและเป็นกำลังใจให้ค่ะ

    ตอบลบ