Translate

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คำถามที่พบบ่อยในการเพาะเห็ด

คำถามที่ได้รับมากก็คือทำไมเห็ดไม่ออกดอกหรือไม่ก็ ทำไมเห็ดออกดอกน้อยเป็นคำถามสั้น ๆ แต่ทำให้ผมคิดอยู่นานมาก ๆ ว่าจะตอบอย่างไรดีเพื่อให้ผู้อ่านชัดเจน ก่อนอื่นท่านที่ยังไม่เคยอ่านบทความของผมมาก่อน แนะนำให้ไปอ่านมาก่อนจะได้เข้าใจในเรื่องวิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของการทำเห็ดฟางแบบโรงเรือน เข้าเรื่องนะครับ ปกติวิธีการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนที่ทำงานนับตั้งแต่ส่วนผสม การหมักวัสดุเพาะ การกองวัสดุเพาะ การอบไอน้ำ การเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ด การให้เชื้อ การตัดดอก การดูแลรักษา ทุกขั้นตอนไม่ว่าตอนหนึ่งตอนใดถ้าผิดพลาด ก็มีผลต่อผลผลิตทั้งสิ้น ปัญหาคือจะรู้ได้อย่างไรเมื่อทำงานผิด ก่อนอื่นผมต้องขอย้ำก่อนว่าถ้าคุณเป็นมือใหม่ คุณจะต้องมีเครื่องมือที่จำเป็นมาก 2 ตัวคือ เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น และเครื่องมือวัดความเป็นกรดด่าง เริ่มเลยนะครับ
1.ส่วนผสมวัสดุเพาะ ตัวอื่น ๆ จะใส่มากหรือน้อยไม่เป็นไร ไม่ได้มีผลทำให้เห็ดไม่ติด จะมีผลแค่ทำให้เห็ดออกมากหรือน้อย แต่ถ้าผสมรำมากเกินไป จะทำให้ย่อยสลายไม่หมดจะทำให้วัสดุเพาะเป็นกรด ซึ่งความเป็นกรดนี้จะเป็นพิษต่อเห็ดในระยะจับดอก
2.ถ้าคุณหมักวัสดุเพาะไม่นานพอ จะทำให้อาหารเห็ดน้อย คุณจะได้เห็ดน้อยแต่ถ้าคุณหมักนานเกินไปจะทำให้วัสดุเพาะเป็นกรด ถ้าวัสดุเพาะของคุณเป็นกรดมากจะทำให้เห็ดไม่จับดอกเลย ค่า ph. ที่ความจะได้คือ 6.5-7 ครับ
3.การกองวัสดุรองเพาะ ถ้าไม่หนาพอจะทำให้กองวัสดุเพาะแห้งไป จะมีผลทำให้เห็ดเกิดน้อย
4.การกองวัสดุเพาะ ถ้ากองน้อย จะทำให้อุณหภูมิภายในกองเพาะต่ำเกินไป จะมีผลทำให้เชื้อเห็ดไม่สามารถสร้างเส้นใยเห็ดได้ ผลทำให้เห็ดไม่เกิดหรือเกิดน้อย
5.การกองวัสดุเพาะและวัสดุรองเพาะมากเกินไป ไม่มีผลเสียแต่อย่างใด มีแต่เปลืองของ สำหรับมือใหม่แนะนำว่าไม่ต้องประหยัดครับ ทำให้เกิดให้ได้ก่อนแล้วค่อยปรับปรุงต้นทุนเอาครับ อีกอย่างราคารับซื้อเห็ดฟางปัจจุบันขั้นต่ำตลอดทั้งปีอยู่ที่ 60 บาท ซึ่งปกติจะได้ 70-90 บาท ในราคาขนาดนี้ทำให้เปลืองอย่างไรก็ยังกำไรมากอยู่ดีครับ
6.การเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ด จะต้องให้กองเพาะและโรงเรือน มีความชื้นมาก ๆ ไม่ใช่แฉะนะครับ เพื่อให้ราเจริญเติบโตได้ดี ถ้าความชื้นไม่พอ จะทำให้เห็ดเกิดน้อย และเมื่อเลี้ยงดอกเห็ดจะมีปัญหากองวัสดุเพาะแห้งเกินไป
7.การอบไอน้ำ ต้องให้น้ำให้ชุ่มแต่ไม่ให้หยดทิ้ง อบให้อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของการหมักกองวัสดุเพาะ 10 องศา นานอย่างน้อย 3 ช.ม. นับตั้งแต่อุณหภูมิถึงที่กำหนดคือมากกว่า 10 องศา ถ้าคุณอบไอน้ำได้อุณหภูมิไม่ถึงหรือระยะเวลาไม่นานพอ จะมีผลทำให้เชื้อราอื่นซึ่งมีความแข็งแรงกว่าเชื้อเห็ดกินเชื้อเห็ดฟางเป็นอาหาร ทำให้เห็ดไม่เกิดหรือเกิดแต่น้อยมาก
8.การให้เชื้อ ต้องให้แน่ใจว่าเชื้อเจริญได้พอดีใช้ ไม่แก่ไปหรืออ่อนไป และต้องไม่มีราดำ หรือราเขียว และการให้หัวเชื้อต้องให้ในขณะที่อุณหภูมิภายในโรงเรือนอยู่ที่ 38 องศา ถ้าคุณให้หัวเชื้อที่อุณหภูมิต่ำ 36 องศาจะทำให้เห็ดเกิดน้อย ถ้าสูงกว่า 40 องศาจะทำให้หัวเชื้อบางส่วนตาย
9.หลังให้หัวเชื้อต้องให้น้ำเพื่อให้หัวเชื้อแนบติดกับวัสดุเพาะ ถ้าไม่ให้น้ำจะทำให้หัวเชื้อแห้งไปเห็ดก็เกิดน้อย แต่ถ้าให้มากจนเกินไปคือแฉะจะทำให้เชื้อไม่สามารถแทรกตัวลงในวัสดุเพาะไม่ได้ดี เห็ดก็เกิดน้อยเช่นกัน
10.หลังเห็ดจับตัวเป็นดอกแล้ว ก็รักษาอุณหภูมิกับความชื้นให้ได้ ก็เป็นอันสำเร็จแล้วครับ



จะเห็นว่าการเลี้ยงเห็ดฟางจริง ๆ แล้วต้องใช้ความรู้และประสบการณ์มาก แต่ให้คิดเสมอว่าการทำงานที่ต้องอาศัยความรู้จะให้ผลตอบแทนมากว่าการทำงานโดยใช้แรงงาน ถ้าคุณปลูกข้าวโพดราคาที่ได้คือตันละ ถ้าคุณเพาะเห็ดตัวอื่นคุณก็จะได้ไม่มาก บางช่วงอาจจะขาดทุน แต่ถ้าเพาะเห็ดฟางถ้าทำได้มีแต่กำไรมากตลอดทั้งปีครับ ก็หวังว่าที่กล่าวมาทั้งหมดคงพอช่วยแก้ปัญหาและเป็นแนวทางความรู้ให้บางท่านได้นะครับ ถ้ามีปัญหาอื่นก็ถามมาได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น